“ประกันสังคม” เปิดเฮียริ่งเงินสมทบ “ม.33” ใหม่ สูงสุด 1,150 บ.

“ประกันสังคม” เปิดเฮียริ่งปรับฐานเงินสมทบ “ม.33” ใหม่ จากที่เคยส่งสูงสุด 750 บาท อาจต้องส่งเพิ่มขึ้นเป็น 1,150 บาท


สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวง กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.พ.66

โดยประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็น คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. มีการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

1.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท

2.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท

3.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท

ทั้งนี้เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2538 จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นจึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม

*สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น

ส่วนประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับผู้ประกันตน คือทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นเนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้

1.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

2.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

3.เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

4.เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

5.เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

6.เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น จากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

ตัวอย่างผลต่อผู้ประกันตน เช่น ในปี 67 ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท (เดิม 7,500 บาท) เป็นต้น

Back to top button