AOT ชงบอร์ดจ้างขยาย “ดอนเมือง เฟส 3” วงเงิน 600 ลบ. คาดเปิดประมูลปลายปี 66

AOT ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียด “อากาศยานดอนเมือง เฟส 3” วงเงินรวม 600 ล้านบาท ลุ้นเปิดประกวดราคาปลายปี 66 และเปิดให้บริการปี 70


นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หรือ ทอท. เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท แล้วนั้น

ขณะนี้ ทอท.ได้ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) วงเงินกว่า 600 ล้านบาทแล้ว โดยมีระยะเวลาศึกษา 10 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จปลายปี 2566 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ขออนุมัติ เปิดประกวดราคาจ้างผู้รับเหมาในปลายปี 2566 และเริ่มการก่อสร้างในต้นปี 2567 ได้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2570

โดยปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีศักยภาพรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ผู้โดยสารมีจำนวนมากกว่าขีดความสามารถแล้ว ขณะที่กายภาพของสนามบินดอนเมือง ที่มีจำนวน 2 รันเวย์ ความสามารถรองรับได้ 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เมืองและเป็นการใช้งานรันเวย์ร่วมกันกับกองทัพอากาศด้วยขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจะลดลง ทั้งนี้ ยังต้องขึ้นกับ ขนาดเครื่องบินด้วย หากเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่จะได้จำนวนผู้โดยสารที่มากขึ้น แต่หากเป็นเครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กมาก จำนวนผู้โดยสารที่รองรับจะน้อยลงไปด้วย

สำหรับการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพและสิ่งอำนวยความสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี แต่สามารถบริหารจัดการได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ) บริเวณด้านใต้ของสนามบิน โดยจะรื้ออาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเก่า ที่ไม่ได้ใช้งานมานานแล้วก่อสร้างอาคารใหม่

ภายหลังสร้างอาคารหลังที่ 3 เสร็จ จะเปิดบริการผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้  18 ล้านคนต่อปี  ส่วน อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (ปัจจุบัน รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ) จะทำการปรับปรุง และปรับการให้บริการรองรับผู้โดยสารภายในประเทศร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มี ขีดความสามารถรองรับได้ประมาณ 22 ล้านคนต่อปี รวมไปถึงพื้นที่อาคาร Service Hall ที่อนาคตจะปรับเป็นบริการผู้โดยสารในประเทศแทนการให้บริการกรุ๊ปทัวร์

นายกีรติ กล่าวว่า ในแผนพัฒนายังมีงานปรับปรุงระบบการจราจรโดยขยายช่องทางจราจรหน้าอาคารผู้โดยสาร จาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร และจะมีการก่อสร้างสะพานเชื่อมทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์กับถนนภายในสนามบิน ทั้ง ขาเข้าและขาออก เพิ่มเติม 2 จุด  เพื่อแก้ปัญหาจราจรภายในสนามบิน ซึ่งประเด็นการสร้างทางเชื่อมกับ ดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น จะต้องมีการหารือกับกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะเจ้าของโครงการ และ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT)  คู่สัญญาร่วมลงทุนฯ ของกรมทางหลวง ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในแผนจะประมูลก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ก่อน เพื่อเร่งก่อสร้างเสร็จในปี 2569 ขณะที่แผนงานพัฒนาดอนเมืองระยะที่ 3 มีระยะเวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 7 ปี (2566-2572)

Back to top button