“ประยุทธ์-อันวาร์” สักขีพยาน “3 เอกชนไทย” ลงนามมาเลย์ ลุยพลังงานหมุนเวียน

"ประยุทธ์-อันวาร์" มุ่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วม เป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง และ “แผ่นดินทอง” ร่วมกัน พร้อมร่วมเป็นสักขีพยาน "3 เอกชนไทย" ลงนามมาเลย์ ลุยพลังงานหมุนเวียน


วันนี้ 9 ก.พ. 66   ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และภริยา ได้ให้การต้อนรับ นายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย พร้อมด้วยภริยา ในการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2566 ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน

โดยเมื่อเวลา 16.30 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้จัดพิธีต้อนรับ พิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ ก่อนที่จะเข้าไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ลงนามในสมุดเยี่ยม และชมของที่ระลึก ณ ห้องสีงาช้าง จากนั้นผู้นำทั้งสองประเทศจะหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมและเชื่อมโยง การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย โดยเฉพาะ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทยกับ 4 รัฐ ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ทั้งด้านการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุน และด้านคมนาคมขนส่ง

รวมทั้งเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 โดยอาศัยกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ เพื่อลดอุปสรรคและการอำนวยความสะดวกด้านการค้า และการส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพระหว่างไทยและมาเลเซีย เช่น อุตสาหกรรมยางพารา อาหารฮาลาล พลังงาน และในมิติใหม่ ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและในเวทีโลก เพื่อร่วมมือกันเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับความท้าทายใหม่ ๆ และฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ โดยเป็นการลงนามพลังงาน 3 ฉบับ ของเอกชน และอีก 1 ฉบับเป็นการลงนามเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) หรือ depa (ดีป้า) ได้แก่

1.บันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย

2.บันทึกความเข้าใจระหว่าง TNB Renewable Sdn. Bhd. (“TRe”) และ Planet Utility Co., Ltd. (“Planet Utility”) เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย

3.บันทึกความตกลงระหว่าง TNB Power Generation Sdn. Bhd. (“GenCo”) และ B Grimm Power Public Co. Ltd. (“B Grimm”) ซึ่งเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

จากนั้นในเวลา 19.00 น ในยุครัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและภริยาณตึกสันติไมตรีหลังนอก

Back to top button