สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ก.พ. 2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ก.พ. 2566
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปีเป็นปัจจัยกดดันตลาด และบดบังปัจจัยบวกจากรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่อย่างดิสนีย์และเป๊ปซี่โค
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,699.88 จุด 249.13 จุด หรือ -0.73%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,081.50 จุด ลดลง 36.36 จุด หรือ -0.88% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,789.58 จุด ลดลง 120.94 จุด หรือ -1.02%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในเยอรมนี และการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ได้ช่วยบดบังความวิตกเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางชั้นนำแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 462.31 จุด เพิ่มขึ้น 2.85 จุด หรือ +0.62% หลังแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปีในการซื้อขายช่วงเช้า
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,188.36 จุด เพิ่มขึ้น 68.53 จุด หรือ +0.96%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,523.42 จุด เพิ่มขึ้น 111.37 จุด หรือ +0.72% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,911.15 จุด เพิ่มขึ้น 25.98 จุด หรือ +0.33%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันแล้ว หลังจากแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และข่าวเกี่ยวกับการเสนอซื้อกิจการของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,911.15 จุด เพิ่มขึ้น 25.98 จุด หรือ +0.33%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) โดยตลาดถูกกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่พุ่งขึ้นมากกว่าคาด และความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 78.06 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 59 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 84.50 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นทะลุระดับ 1,900 ดอลลาร์ในระหว่างวัน นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่เจ้าหน้าที่หลายคนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 12.2 ดอลลาร์ หรือ 0.65% ปิดที่ 1,878.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 27.7 เซนต์ หรือ 1.24% ปิดที่ 22.143 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 23 ดอลลาร์ หรือ 2.33% ปิดที่ 964.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 19.2 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 1,616.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.18% แตะที่ 103.2330
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0736 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0723 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2117 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2069 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3550 โครนา จากระดับ 10.5932 โครนา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 131.57 เยน จากระดับ 131.37 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9224 ฟรังก์ จากระดับ 0.9202 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3452 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3439 ดอลลาร์แคนาดา