รถยนต์ EV ในไทยฟีเวอร์ “เทสลา” เขย่าตลาดแค่ไหน ใครได้-เสีย?

รถยนต์ EV ในไทยฟีเวอร์ เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง “เทสลา” เข้ามาบุกตลาดยานยนต์ไทยใครได้-ใครเสีย


เมื่อพูดถึงรถยนต์ต้องบอกเลยว่าในช่วงที่ผ่านมา ตลาดของผู้บริโภคในไทยนั้นถือว่าเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ที่แปลกใหม่คือเรื่องของการเลือกรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการประหยัดพลังงาน และประหยัดเงินในกระเป๋า กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆในการเลือกซื้อหารถยนต์ไฟฟ้า  ซึ่งในไทยตอนนี้มีอยู่หลายแบรนด์มากมายที่กำลังทำตลาด ไม่ว่าตั้งแต่แบรนด์ที่มาจากประเทศจีนที่ราคาไม่สูงมาก หรือจะเป็นแบรนด์หราพรีเมี่ยมจากยุโรปและอเมริกา ต่างก็เข้ามาทำตลาดให้เลือกแบบหลากหลาย

โดยหนึ่งในแบรนด์ที่คนไทยสนใจไม่น้อยและมีผู้ใช้มาตั้งแต่ช่วงแรกนั้นก็คือแบรนด์ “เทสลา” จากเดิมต้องเป็นรถนำเข้าเท่านั้น แต่ตอนนี้ทางเทสลาได้มีการทำตลาดในไทย ซึ่งทำให้มีความน่าสนใจว่าจากนี้อนาคตวงการยานยนต์จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยล่าสุดมีการวิเคราะห์จาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  คาดว่าการที่เทสลาตัดสินใจเปิดตลาดในประเทศไทยนั้น ยังคงมีความแตกต่างอย่างอยู่บ้าง นั่นก็เพราะว่าทางผู้ผลิตบางรายของจีนมีการตัดสินใจเปิดโรงงานและตั้งฐานการผลิตในไทย ในขณะที่ค่ายรถยนต์ระดับโลกอย่าง “เทสลา” เลือกนำเข้ารถยนต์จากจีนมาขายในไทยและยังไม่มีการพิจารณาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย

สำหรับสัญญาณการทำตลาดรถยนต์ครั้งนี้  จึงเป็นการทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากขึ้น โดย KKP Research ประเมินว่า แม้แนวโน้มการลงทุนทางตรงเพื่อผลิตรถยนต์ EV ของบริษัทจีนจะปรับตัวดีขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ผลบวกต่อเศรษฐกิจจะมีไม่มาก นั่นก็เป็นเพราะว่ายอดการลงทุนที่มีขนาดเล็ก และมูลค่าเพิ่มในการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการเข้ามาของค่ายรถยนต์ EV ใหม่ๆทั้ง เทสลาและค่ายจีน  ก็ยังสามารถช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ EV ในไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คำถามที่สำคัญ คือ ในช่วงหลังจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในภูมิภาคต่อไปได้หรือไม่ เพราะการเข้ามาของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะกระทบกับตลาดรถยนต์เดิมอย่างไร  ตรงนี้นี่เอง KKP Research ได้ประเมินไว้ว่า ไทยกำลังน่าสนใจน้อยลง  ในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ EV เมื่อมองจากมุมของเทสลา ที่เป็นผู้เล่นสำคัญของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. เรื่องที่ไทยมีตลาดที่ค่อนข้างเล็กจากกำลังซื้อภายในประเทศที่มีจำกัด โดยราคาเทสลาในปัจจุบันสามารถเจาะตลาดไทยได้เพียง 30,000 คันต่อปี หรือคิดเป็น 4.5% ของตลาดรถยนต์ไทย

2. การนำเข้าจากโรงงานจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและโอกาสถึงจุดคุ้มทุนจากการตั้งโรงงานผลิตขายในตลาดไทยมีน้อย และ 3. การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตโลก โดยมีความพยายามของนโยบายรัฐในประเทศพัฒนาแล้วในการดึงการสร้างฐานการผลิตกลับไปยังประเทศต้นทางมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาตลาดเกิดใหม่มีน้อยลง

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าไทยหมดโอกาสเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะประเด็นการตัดสินใจตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์จีนในไทยแตกต่างจากเทสลา และทำให้ไทยมีโอกาสดึงดูดค่ายจีนบางกลุ่มได้ เนื่องจากค่ายรถยนต์จีนมีสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า ตัวอย่างเช่น ราคาที่ถูกกว่าเทสลา จนมีฐานผู้บริโภคให้ทำตลาดที่กว้างกว่า ทำให้การตั้งโรงงานมีโอกาสถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่า

อย่างไรก็ดีไม่เพียงเท่านั้น ยังประเมินว่าการเข้ามาลงทุนทางตรงในช่วงที่ผ่านมาในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ยังสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจได้น้อยเป็นเพราะมาจาก 2 ประเด็นสำคัญ คือขนาดการลงทุนยานยนต์ EV จากจีนยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ และยังน้อยกว่าการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นเพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในอดีต และอีกอย่างก็คือมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการผลิตรถยนต์ EV มีน้อยลง และจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้น อาจทำให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยเคยสร้างได้ในประเทศหายไปมากกว่าครึ่ง   ในขณะที่การเข้ามาของทำธุรกิจขายรถยนต์ของเทสลา แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่มีตัวเลือกหลากหลายขึ้นแต่ไม่ได้มีผลบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก

หากมองในเรื่องที่ว่า การเข้ามาของเทสลา จะสร้างแรงกระเพื่อมกับตลาดรถยนต์ไทยได้หรือไม่นั้น  ตรงนี้มองว่า แม้ว่าการเข้ามาของเทสลา จะยังไม่สามารถจับตลาดยานยนต์ทั่วไปของไทยได้ แต่ก็สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อตลาดรถยนต์ในบางกลุ่ม โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทันทีในระยะสั้น คือตลาดรถหรู และตลาดรถหรูมือสอง และในระยะยาวค่ายรถจีนและญี่ปุ่นจะได้รับแรงกดดันมากขึ้น  นั่นก็เพราะคนที่ใช้รถหรู เช่น คนที่เคยใช้รถหรู อาจจะเปลี่ยนมาใช้รถ EV เร็วขึ้น

ส่วนที่ตลาด EV จะมีแนวโน้มโตแค่ไหนนั้น ตรงนี้ยัง KKP Research ยังเชื่อว่าในไทยจะยังมีการโตขึ้น แต่ในระยะยาวการขยายตลาดรถยนต์ EV มายังตลาดรถยนต์ใหญ่ของไทยยังทำได้ยากเนื่องจากราคารถยนต์ EV ที่ยังสูง ดังนั้นในระยะต่อไปยังคงต้องจับตาติดตามอย่างใกล้ชิด ไม้ว่าจะเป็นเรื่องของราคาที่จะมีการกดดันให้ราคาถูกลง หรือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ และที่สำคัญก็คือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ไทย

Back to top button