สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ก.พ. 2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ก.พ. 2566
ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (10 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้น แต่ดัชนี Nasdaq ปิดลบจากความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น หลังจากบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประสานเสียงเตือนว่า เฟดยังจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,869.27 จุด เพิ่มขึ้น 169.39 จุด หรือ +0.50% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,090.46 จุด เพิ่มขึ้น 8.96 จุด หรือ +0.22% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,718.12 จุด ลดลง 71.46 จุด หรือ -0.61%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันศุกร์ (10 ก.พ.) โดยถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ขณะที่นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางชั้นนำจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปนานกว่าที่ตลาดคาดกันไว้ นอกจากนี้ การเปิดเผยแนวโน้มผลประกอบการที่ซบเซาของบริษัทอาดิดาส ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายหุ้นในตลาดด้วย
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 457.89 จุด ลดลง 4.42 จุด หรือ -0.96%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,129.73 จุด ลดลง 58.63 จุด หรือ -0.82%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,307.98 จุด ลดลง 215.44 จุด หรือ -1.39% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,882.45 จุด ลดลง 28.70 จุด หรือ -0.36%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันศุกร์ (10 ก.พ.) เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้บดบังการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ในไตรมาส 4 แต่การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานได้ช่วยลดช่วงติดลบในตลาด
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,882.45 จุด ลดลง 28.70 จุด หรือ -0.36% และปรับตัวลง 0.31% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (10 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากความกังวลว่าตลาดน้ำมันจะตึงตัว หลังจากรัสเซียประกาศแผนการที่จะปรับลดการผลิตน้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 1.66 ดอลลาร์ หรือ 2.13% ปิดที่ 79.72 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 8.6% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 1.89 ดอลลาร์ หรือ 2.24% ปิดที่ 86.39 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.1% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (10 ก.พ.) โดยราคาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 4 ดอลลาร์ หรือ 0.21% ปิดที่ 1,874.5 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวลง 0.1% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 6.8 เซนต์ หรือ 0.31% ปิดที่ 22.075 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 12.4 ดอลลาร์ หรือ 1.29% ปิดที่ 951.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 91.8 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 1,524.9 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (10 ก.พ.) ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์หน้า เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้อัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.38% แตะที่ 103.6290
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9243 ฟรังก์ จากระดับ 0.9224 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดนที่ระดับ 10.4761 โครนา จากระดับ 10.3550 โครนา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 131.51 เยน จากระดับ 131.57 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3345 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3452 ดอลลาร์แคนาดา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0674 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0736 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2048 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2117 ดอลลาร์