MEB เทรดรับวาเลนไทน์ ลุ้นวิ่งเป้า 32 บ. ตอกย้ำผู้นำ “อีบุ๊ก” เบอร์ 1 ไทย

MEB เทรดรับวาเลนไทน์ ลุ้นวิ่งเป้า 32 บ. จาก ราคา IPO ที่ 28.50 บ. ตอกย้ำผู้นำแพลตฟอร์มนิยาย-หนังสือออนไลน์เบอร์ 1 ไทย โบรกประเมินอุตสาหกรรมยังโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มผู้อ่านนิยายออนไลน์เพิ่มขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ก.พ.66) หลักทรัพย์บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MEB ผู้จัดจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) หนังสือเสียง (audio book) อุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-reader) และการบริการที่เกี่ยวข้อง พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายใต้กลุ่มบริการ เป็นวันแรก

โดย MEB เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) และมีเงินลงทุนในบริษัทไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด ถือหุ้น 75% ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-reader) และธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มระบบห้องสมุดดิจิทัลสำหรับองค์กรภายใต้ชื่อ Hibrary โดยกลุ่มบริษัทมีช่องทางจำหน่ายผ่านเว็บไซต์  mebmarket.com readAwrite.com และ hytexts.com รวมถึงแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้แก่ meb readAwrite และ Hytexts ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว(registered user) ประมาณ 8 ล้านราย มีวรรณกรรมที่อยู่บนแพลตฟอร์มมากกว่า 180,000 เล่ม/ชุด (SKU)  สัดส่วนรายได้หลักในงวด 9 เดือนปี 2565 มาจากการขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 92

ทั้งนี้ MEB มีทุนชำระแล้ว 150 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 277.50 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 22.50 ล้านหุ้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ Two Bees (HK) Limited และ Brain Ventures Limited จะนำหุ้นออกขาย 53 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 28.34 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนสถาบันและนิติบุคคลที่ร่วม book building  38 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทและบริษัทย่อย 7 ล้านหุ้น เสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทและบริษัทย่อย 0.50 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อพนักงาน 1.66 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 3 และ 6-7 ก.พ.66 ในราคาหุ้นละ 28.50 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย IPO 2,151.75 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 8,550 ล้านบาท

ด้านนายรวิวร มะหะสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MEB เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ก.พ.66 หุ้น MEB จะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรก ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โดยจุดเด่นของบริษัท คือ มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งเมื่อพิจารณาจากรายได้รวม โดยในงวด 9 เดือนแรกปี 65 บริษัท มีจำนวนผู้ใช้งาน (Registered Users) ประมาณ 8.20 ล้านราย สามารถแยกเป็นผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน (Monthly Active User หรือ MAU) ประมาณ 6.29 ล้านราย โดยสาเหตุที่เป็นที่นิยมในหมู่นักอ่าน เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังมีเนื้อหาสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับสามารถรองรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย อาทิ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต

ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 62–64 มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยบริษัท มีรายได้รวมเท่ากับ 618.72 ล้านบาท 1,004.68 ล้านบาท 1,456.38 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 82.09 ล้านบาท 164.74 ล้านบาท 275.34 ล้านบาท ตามลำดับ ล่าสุดในงวด 9 เดือนของปี 65 ยังสร้างผลงานที่โดดเด่นโดยมีรายได้รวม 1,263.54 ล้านบาท มีกำไรสุทธิมากถึง 241.85 ล้านบาท

“แผนการเข้าระดมทุนในครั้งนี้ บริษัท มีวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อขยายธุรกิจที่อยู่ในแพลตฟอร์มปัจจุบัน ขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปัจจุบันไปยังต่างประเทศโดยใช้ภาษาท้องถิ่น หรือการสร้างแพลตฟอร์มวรรณกรรมออนไลน์ใหม่ในภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการสร้างฐานรายได้ใหม่เพิ่มขึ้น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับปรุงพัฒนาแพลตฟอร์มปัจจุบันเพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์ที่พิเศษให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งบริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ไม่มีภาระหนี้สินที่ก่อให้เกิดดอกเบี้ย ภายหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ จะสามารถต่อยอดความเป็นผู้นำในธุรกิจด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบการดำเนินงาน และทำให้ MEB มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับแผนการขยายธุรกิจของบริษัท และเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ผลประกอบการบริษัท เติบโตแข็งแกร่ง และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในอนาคต” นายรวิวร กล่าว

ส่วนนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จํากัด (มหาชน) หรือ บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญของ MEB มั่นใจการซื้อขายหุ้นวันแรกในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 14 ก.พ.66 จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ยังสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนเพิ่มเติม โดยหุ้นในส่วนของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด silent period จำนวน 59,500,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 19.83 ทางผู้ถือหุ้นประกาศขอล็อคอัพทั้งจำนวน ช่วยตอกย้ำความมั่นใจให้แก่นักลงทุนว่าจะไม่มีการขายหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่ในวันเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในวันแรก

ทั้งนี้การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตลาด mai แล้ว จะทำให้ MEB มีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อการเติบโตได้อีกมาก โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในอัตรารวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ

“เรามั่นใจว่าหุ้น MEB จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งการเสนอาขายหุ้น IPO ที่่ผ่านมา มีทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงรายย่อยให้ความสนใจจองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัท เนื่องจากมองเห็นถึงศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ ทีมผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างดี โดยบริหารบริษัทมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ไปพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะนำคอนเทนต์ต่างๆ ของนักเขียนไทยแปลเป็นภาษาต่างชาติเพื่อสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ สู่ตลาดโลก ตามแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ อีกทั้ง MEB ยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่ลดการก่อมลภาวะเป็นพิษต่อโลก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายบริษัท ในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการนี้” นายพิเชษฐ กล่าวในที่สุด

โดยบล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า MEB ก่อตั้งปี 54 เป็นแพลตฟอร์มขายวรรณกรรมออนไลน์ชื่อ “meb” “Hytexts” และ “readAwrit” มีส่วนแบ่งรายได้เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย ปัจจุบัน ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่ม CRC จุดเด่นที่ทาให้ MEB ได้รับความนิยมคือ เนื้อหาที่นำเสนอ ความเสถียรของระบบและความง่ายในการใช้งานของแพลตฟอร์ม และจากความสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์และนักเขียนที่ดีที่มีมาอย่างยาวนาน การบริการที่ดี และตรงกับความต้องการของผู้อ่าน

ส่วนภาพอุตสาหกรรมยังเติบโตสูง จากการเข้าถึงหนังสือออนไลน์ของไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว และ MEB เองมีกลยุทธ์ “เจอ จ่าย จบ” (แค่เข้าคลังหนังสือ และก็กดอ่านได้เลย) ทำให้ MEB แปลงผู้ใช้งานเป็นยอดรายได้และกำไรจริง ในปี 64 กำไรมีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่ารายได้

จากการที่ Monthly Active Users (MAU) และ รายได้ต่อ MAU มีการเติบโตในระดับสูง ขณะที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างคงที่กำไรสุทธิปี 65-67 เติบโต 15.0%, 17.8% และ 16.9% ตามลาดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16.6% CAGR ปี 65-67 การเติบโตของ MAU ของทั้ง meb และ readAwrite เป็นปัจจัยหลักในการหนุนการเติบโตของกำไร Fundamental View ประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 66 ที่ 8,144-9,600 ล้านบาท หรือเทียบเป็น 27.1-32 บาท/หุ้น

Back to top button