CHASE โชว์พอร์ตหนี้ 1.5 หมื่นลบ. เล็งซื้อเพิ่มพันล้าน-ดีอี 0.4 เท่า
CHASE ดาวรุ่งธุรกิจ AMC กว่า 25 ปี โชว์พอร์ตหนี้ 1.5 หมื่นลบ. วางงบกว่า 2 พันลบ. ซื้อหนี้เพิ่ม 1 พันลบ./ปี-ดีอีต่ำเพียง 0.4 เท่า
บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE ผู้คร่ำหวอดในวงการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพกับความเชี่ยวชาญมากว่า 25 ปีเป็นที่ไว้วางใจของสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ใช้บริการ ส่งผลให้หนี้ที่ให้บริการติดตามทวงถามคงค้างของ CHASE ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 15,000 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของ CHASE ที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงระหว่างปี 62–64 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) กว่า 10.8% รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ประมาณ 60% และธุรกิจติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินอีกประมาณ 34% ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น
โดยฐานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทในไตรมาส 3/65 ยังแข็งแกร่ง มีสินทรัพย์ 2,875.5 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) เท่ากับ 0.4 เท่ารองรับโอกาสในการเข้าซื้อ NPL ของกลุ่มบริษัทในอนาคต
ปัจจุบัน CHASE มีธุรกิจหลัก ได้แก่ บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน พร้อมให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน และมีบริการดำเนินคดีแบบครบวงจร
จากข้อมูลสถิติปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามยอดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา บวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ปี 64 มีอัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์มากถึง 531,000 ล้านบาท
ทั้งนี้คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยขายหนี้เสียออกมาหลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบของโควิด-19 ช่วงสิ้นปี 65 ที่ผ่านมา ทำให้เป็นโอกาสในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาเพิ่ม ในฐานะที่ CHASE เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพครบวงจร มองปีนี้เป็นปีที่ดีของธุรกิจ เนื่องจากน่าจะมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกมาในตลาดมาก
โดยภายใต้โอกาสดังกล่าว CHASE เดินหน้าดันกำไรโตต่อเนื่อง ด้วยแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 562 ล้านหุ้น ภายในเดือนนี้ ซึ่งจะนำเงินระดมทุนที่ได้มาใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการรับซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่ม โดยตั้งเป้าวงเงินลงทุนรับซื้อหนี้ฯ ภายในปี 67 จำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท เฉลี่ยรับซื้อหนี้ฯ ปีละ 1,000 ล้านบาท