JWD สวอปหุ้น SCGL ฉลุย! ดีเดย์หุ้นใหม่ SJWD เทรด 17 ก.พ.นี้
JWD เดินหน้าแลกหุ้นกับ SCGL ตามแผนรวมกิจการสำเร็จ ดีเดย์เปลี่ยนตัวย่อซื้อขายใหม่เป็น "SJWD" มีผลวันที่ 17 ก.พ.นี้ พร้อมรวมงบตั้งแต่ไตรมาส 1/66 เป็นต้นไป หวังยกระดับสู่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์-ซัพพลายเชนครบวงจรใหญ่สุดภูมิภาคอาเซียน
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้รวมกิจการกับบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL)
ล่าสุดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามมติผู้ถือหุ้นดังกล่าวด้วยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) โดยทำการลดทุนและเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯเป็น 905.51 ล้านบาท จากเดิม 510 ล้านบาท และออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 791,020,363 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement หรือ PP) แก่ผู้ถือหุ้นของ SCGL ที่ราคาหุ้นละ 24.02 บาท สำหรับเป็นค่าตอบแทนการรับโอนหุ้นสามัญของ SCGL แทนการชำระด้วยเงินสด ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นของ SCGL เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใน JWD คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.7 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ JWD ภายหลังทำธุรกรรมครั้งนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันถือว่าการทำธุรกรรมรวมกิจการระหว่างกันแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย บริษัทฯ จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 และจะเริ่มใช้ชื่อย่อใหม่ในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น “SJWD” ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 รวมถึงจะเริ่มรวมผลประกอบการของ JWD และ SCGL ตั้งแต่ไตรมาส 1/66 เป็นต้นไป
ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กล่าวว่า การรวมกิจการเป็น บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดีโลจิสติกส์ จะยกระดับบริษัทฯ เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวัดจากรายได้และกำไร โดยดำเนินธุรกิจในอาเซียน 9 ประเทศ อาทิ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมจีนตอนใต้ ฯลฯ สามารถให้บริการแก่ลูกค้าครอบคลุมทั้งกลุ่ม B2B (Business-to-Business) B2B2C (Business-to-Business-to-Customer) และ C2C (Customer-to-Customer) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ (End-to-End) ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
การผสานความแข็งแกร่งระหว่าง JWD และ SCGL จะเพิ่มศักยภาพธุรกิจและขีดความสามารถการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการนำเสนอการบริการและผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) สามารถบริหารจัดการและลดต้นทุนได้ดียิ่งขึ้นจากการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน เช่น ระบบไอที รถขนส่ง เป็นต้น เพิ่มโอกาสขยายการลงทุนจากการมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรับโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (IBD/E Ratio) ของ JWD ก่อนรวมกิจการอยู่ที่ 1.8 เท่า และเมื่อรวมกิจการเป็น บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จะลดลงประมาณ 0.4 เท่า
ขณะที่ผลการดำเนินงานภายหลังรวมกิจการจะโดดเด่นยิ่งขึ้น ข้อมูลตามงบการเงินรวมเสมือนงวดปี 2564 ของ บมจ.เอสซีจีเจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จะมีรายได้รวม 25,548 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,152 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 จะมีรายได้รวม 14,270 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 584 ล้านบาท โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศในอนาคตมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันที่ JWD มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศกว่า 20% เนื่องจากศักยภาพการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ หรือชื่อย่อซื้อขายหลักทรัพย์ SJWD ต่อจากนี้ จะผสานผสานความแข็งแกร่งระหว่าง JWD ที่มีความเชี่ยวชาญการให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะทาง และ SCGL ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและมีวัฒนธรรมการทำงานแบบมืออาชีพ ด้วยฐานลูกค้ารวมกันที่มีมากกว่า 2,400 ราย พื้นที่คลังสินค้าทุกประเภทและลานจอดพักรถรวมกันกว่า 2.3 ล้านตารางเมตร รถขนส่งกว่า 12,000 คัน และเรือบรรทุกสินค้ากว่า 240 ลำ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน ผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ (1) การเพิ่มรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale จากฐานลูกค้าเดิมของ SCGL และ JWD (2) สร้างมูลค่าเพิ่มในบริการเดิมที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญ (3) เชื่อมต่อฐานการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อ (4) ให้บริการแบบ D2C (Direct to Consumer) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และ (5) พัฒนาขอบเขตการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจใหม่ ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม บริการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น
“ภายใต้การรวมกิจการเป็น บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ โครงสร้างการบริหารงานจะมีคุณบรรณ เกษมทรัพย์ ผู้บริหารจาก SCGL และตัวผม ร่วมกันบริหารงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (Co-CEO) มั่นใจว่าด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เราสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวของดีมานด์ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลกได้” นายชวนินทร์ กล่าว