GUNKUL ยัน “วายุวินด์ฟาร์ม” กระทบ 20 MW แย้มเข้าชิงเค้กแผน PDP ใหม่ 20 โครงการ

GUNKUL ย้ำโฉนดที่ดินโครงการวายุวินด์ฟาร์มถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกระทบเล็กน้อยเพียง 20 MW ยังคงเดินหน้าจ่ายไฟเป็นปกติ อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างยื่นประมูลแผน PDP กว่า 20 โครงการ คาดรับรู้ผลประกาศโครงการในปลายเดือนมี.ค.นี้


นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ออกอากาศทาง Kaohoon TV Online และสถานีวิทยุกระจายเสียง ขส.ทบ. FM 102 MHz ว่าเรื่องการพัฒนาโครงการ บริษัทมีขั้นตอนในเลือกโลเคชั่นที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งอย่างในส่วนของที่ดินได้มีการตอบกลับไปยังที่ปรึกษาที่ดินโครงการก็ยังถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงสถาบันการเงินที่ให้บริษัทกู้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งทั้งผู้ขอกู้และผู้ให้กู้จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูล และสิ่งที่ปรากฏตามเอกสารเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย

บริษัทย้ำว่าเรื่องผลกระทบของโครงการบจก. พัฒนาพลังงานลม (WED) โดยโครงการทั้งหมดมี 60 เมกะวัตต์ หากผลทางคดีสิ้นสุดจะกระทบกับ GUNKUL เพียงบางส่วนเท่านั้น ตามคำพิพากษาหลังจากให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโครงการที่ดิน 32 แปลง ซึ่งคือโครงการพลังงานลมต้องใช้พื้นที่การก่อสร้างค่อนข้างมาก มองว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อกังหันลมอยู่ประมาณ 20 ต้น จาก 30 ต้น คิดเป็น 40 เมกะวัตต์ โดยส่วนที่บริษัทถือขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ จึงต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากว่าคำสั่งเป็นของศาลปกครองที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับเอกสารหลักฐานที่แนบอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ซึ่งถ้านับเกิน 30 วัน อาจจะอยู่ประมาณต้นเดือนมีนาคม บริษัทค่อนข้างมั่นใจเอกสารที่มีอยู่พร้อมและเพียงพอต่อการยื่นอุทธรณ์

โดยหลังจากผ่านขั้นตอนศาลชั้นต้นมาแล้ว ขณะนี้บริษัทอยู่ในช่วงกำลังเข้าสู่การยื่นอุทธรณ์ บริษัทขอชี้แจงเป็นข้อต่อสู้ทางคดี ซึ่งทีมกฎหมายได้เตรียมความพร้อม และหลักฐานที่จะนำไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยจะยื่นเรื่องภายในวันที่ 10 มีนาคม 2566 พร้อมยืนยันว่า บริษัทฯ ได้สอบทานความถูกต้องแล้วก่อนการเข้าซื้อที่ดิน และเชื่อมั่นว่าการออกโฉนดที่ดินทั้ง 32 แปลงดังกล่าวได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำชี้แจงที่จะแนบเพิ่มเติมคิดว่าเป็นข้อมูลที่เพียงพอต่อการต่อสู้คดี

เนื่องจากว่าพื้นที่ที่ดินโดยรอบคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นของ สปก. อย่างไรก็ตามเรื่องของที่ดินก็จะมีขั้นตอนในการผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดินในแต่ละปี แต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ บริษัท GUNKUL ได้ยื่นเอกสารเข้าชี้แจงต่อศาลปกครองว่าโครงการดังกล่าวมีที่มาที่ไป

อย่างไรก็ตามจากกรณีผลกระทบจากโครงการพลังงานลม บริษัทยืนยันว่าไม่ต้องตั้งสำรอง เนื่องจากยังอยู่ในการยื่นอุทธรณ์ และคำพิพากษายังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด รวมถึงตามคำสั่งไม่ได้บอกให้บริษัทต้องหยุดการดำเนินงานของโครงการ ซึ่งบริษัทยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาอะไร และบริษัทยังคงเดินหน้า COD จ่ายไฟเป็นปกติ รวมถึงกระบวนการดำเนินการต่อศาลปกครองสามารถดำเนินการต่อไปแต่จะต้องใช้เวลา

โดยอย่างที่ทราบกันว่าคดีโครงการดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงพิพากษาปี 2566 และหลักฐานที่จะนำไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดยังคงต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นจึงอยากให้นักลงทุนพิจารณา พร้อมดูความคืบหน้าของโครงการเพราะยังไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดที่ดินบริษัทที่มีปัญหาต่อโครงการอาจต้องกลับไปเป็นที่ดินของกรมป่าไม้ โดยบริษัทมีโครงการพลังงานลม 3 โครงการ ซึ่งมีปัญหาแค่ 1 โครงการเท่านั้น คือโครงการบจก. พัฒนาพลังงานลม (WED) อีก 2 โครงการไม่ได้มีผลกระทบ เนื่องจากในพื้นที่ 1 โครงการนั้นบริษัทฯได้เช่าพื้นที่จากกรมป่าไม้ เราก็เชื่อมั่นว่าตรงพื้นที่ที่เป็นโซนนี้เป็นป่าไม้ที่สามารถจะไปขอเช่าได้

ทั้งนี้ บริษัทมีการพัฒนาโครงการและมีการยื่นประมูลโครงการใหม่ในแผน PDP โดยยื่นไป 20 กว่าโครงการ ซึ่งเกือบ 20 โครงการ ผ่านคุณสมบัติและเทคนิคเรียบร้อยแล้ว บริษัทคาดว่าจะสามารถรับรู้ผลประกาศโครงการในปลายเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีที่ทำให้บริษัทมีโครงการเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้บริษัทมีงานในช่วงระยะเวลา 5-7 ปีทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มของบริษัทฯในเรื่องของงานก่อสร้าง มองว่าตรงนี้ประมาณ 7 พันเมกะวัตต์ น่าจะเป็นโอกาสธุรกิจในบริษัทย่อยของกันกุล

ขณะเดียวกันบริษัทได้มีการปรึกษาหารือกับพันธมิตร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ในฐานะที่ถือหุ้นด้วยกัน 50% เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันมองว่าหากได้รับผลกระทบก็จะต้องได้รับผลกระทบร่วมกัน โดยทั้งสองบริษัทจะต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน และยังมีข้อตกลงในการพัฒนาโครงการร่วมกัน

นอกจากนี้ โปรเจ็คคอมปานีของโครงการที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้จากสถาบันการเงินมี 1 แห่ง มองว่าไม่น่ามีผลกระทบ เนื่องจากบริษัทจ่ายไฟประมาณ 6-7 ปี ซึ่งภาระหนี้ที่อยู่กู้ธนาคารจะเหลือน้อยมาก ดังนั้นค่าจ่ายไฟฟ้าของบริษัทจะหมดปีที่ 10 นับตั้งแต่เริ่มจ่ายไฟ เพราะหลังจากนี้ผลกระทบก็จะน้อย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อโครงการประมาณกว่า 100 ล้านบาท หลังจากค่าจ่ายไฟฟ้าแล้วราว 20 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อกำไรของบริษัทเพียง 100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำไรอยู่ประมาณกว่า 2 พันล้านบาท โดยบริษัทมีโครงการที่จะลงทุนอีกมากมายของธุรกิจด้านพลังงาน และมีร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์หลายๆ ส่วน โดยโครงการยังไม่ได้มีผลกระทบซึ่งยังไม่สิ้นสุดก็ยังไม่มีส่วนที่ทำให้หยุดดำเนินการโครงการ

Back to top button