ศาลฯ ริบทรัพย์ “ก๊วนปั่นหุ้น MORE” เกลี้ยง 59 รายการ 4.47 พันล้านบาท

ศาลฯสั่งยึดทรัพย์สินคดี MORE จำนวน 59 รายการ มูลค่ากว่า 4.47 พันล้านบาท พร้อมแนะผู้เสียหายติดต่อ ปปง. เพื่อขอรับการชดใช้ตามกฎหมายต่อไป


นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยข้อมูลว่า นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้รายงานคดีสำคัญต่ออัยการสูงสุด ให้ทราบว่า สำนักงานคดีพิเศษได้รับสำนวนคดีการตรวจสอบและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินกรณีคดี บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE จาก ปปง. เพื่อขอให้พนักงานอัยการรับดำเนินการและยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ ผู้ถูกกล่าวหา ตกเป็นของแผ่นดิน ที่มีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวล กฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

คณะทำงานสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 โดยน.ส.แววตา ธวัชไพบูลย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าว พิจารณาแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมานั้น ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากับพวกเป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดร่วมกันฟอกเงินอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) และความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวมทั้งทรัพย์สิน จำนวน 59 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเข้าลักษณะเป็นความผิด มูลฐานตามมาตรา 3 (18 ) ดังกล่าวและยังมิได้ดำเนินการตามกฎหมายอื่นซึ่งหากดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เสียหายและแผ่นดินมากกว่า ทั้งมีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้เสียหายได้

ล่าสุดวันนี้ (16 ก.พ. 2566) อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 สำนักงานคดีพิเศษ รับดำเนินการและยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอศาลได้โปรดทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว ก่อนมีคำสั่งตามมาตรา 51, 55 และยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ ผู้ถูกกล่าวหา กับพวก จำนวน 59 รายการ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 4,470,877,185.15 บาท (สี่พันสี่ร้อยเจ็ดสิบล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันหนึ่งร้อยแปดสิบห้าบาทสิบห้าสตางค์) พร้อมดอกผลของ เงิน หรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 49 ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ต่อไปด้วย ทั้งนี้ ตามนโยบายอัยการสูงสุดได้กำชับให้ทุกหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ร่วมกันยกระดับการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วย ความเท่าเทียม ซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม และมีจิตสาธารณะ เพื่อให้การปฏิบัติงานในฐานะของการเป็นหนึ่งในองค์กรในสายธารแห่งกระบวนยุติธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชนอย่างแท้จริง

สำหรับการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในวันนี้ (16 ก.พ.66) เป็นการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และเมื่อ ปปง. รวบรวมผู้เสียหายและจำนวนเงินที่ได้รับความเสียหาย ให้พนักงานอัยการในลำดับต่อไปแล้ว พนักงานอัยการจะแก้ไขคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งนำทรัพย์สินนั้นคืนแก่ผู้เสียหายต่อไป จึงขอให้ผู้เสียหายติดต่อแจ้งรายละเอียดแห่งความเสียหายเพื่อให้ ปปง. และพนักงานอัยการดำเนินการให้ได้รับการชดใช้ตามกฎหมายต่อไป

โดยวันเดียวกันนี้ ศาลแพ่งได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องฉุกเฉินขอให้ยึด และอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัด เก็บรักษาทรัพย์สิน ตลอดจนแจ้งคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ

นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

Back to top button