“ดาวโจนส์” ปิดบวก 130 จุด นักลงทุนจับตาท่าที “เฟด” หลังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย
“ดาวโจนส์” ปิดบวก 129.84 จุด แตะระดับ 33,826.69 จุด นักลงทุนจับตาท่าที “เฟด” หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณสนับสนุนขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (17 ก.พ.66) แต่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลบท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงเกินคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,826.69 จุด เพิ่มขึ้น 129.84 จุด หรือ +0.39%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,079.09 จุด ลดลง 11.32 จุด หรือ -0.28% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,787.27 จุด ลดลง 68.56 จุด หรือ -0.58%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.1%, ดัชนี S&P500 ลดลง 0.3% และดัชนี Nasdaq บวก 0.6%
นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว 6% แล้ว ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้นราว 13% หลังร่วงลงอย่างหนักในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงในวันศุกร์ โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นไมโครซอฟท์และอินวิเดีย ขณะที่นักลงทุนวิตกว่า ภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ อาจทำให้เฟดต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น
ทั้งนี้ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวน หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น, ตลาดแรงงานตึงตัว และการใช้จ่ายของผู้บริโภคฟื้นตัว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
โกลด์แมน แซคส์และแบงก์ ออฟ อเมริกาคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่วนบรรดาเทรดเดอร์คาดว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะแตะระดับสูงสุดที่ 5.3% ภายในเดือนก.ค. ขณะที่เฟดพยายามที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและลดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้บรรดานักลงทุนวิตกเกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด หลังนางมิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะมีความคืบหน้าในการจัดการกับเงินเฟ้อ
ด้านนายโธมัส บาร์กิ้น ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ระบุว่า เฟดยังจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่อาจปรับขึ้นในอัตรา 0.25%
ดัชนี Cboe Volatility ซึ่งวัดความวิตกของนักลงทุนนั้น ปรับตัวอยู่เหนือระดับ 20 จุดเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน
โดยหุ้น 6 กลุ่มใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P 500 ปิดบวก โดยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 1.29% และหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค บวก 1%
ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 3.65% โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ดิ่งลง 3.8% หุ้นไมโครซอฟท์ คอร์ป ร่วงลง 1.6% และหุ้นอินวิเดีย ร่วง 2.8% ซึ่งถ่วงดัชนี S&P500 ลงมากที่สุด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน หุ้นโมเดอร์นา ร่วงลง 3.3% หลังการทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด RNA ให้ผลการวิจัยที่เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง
หุ้นเดียร์ แอนด์ โค บริษัทผลิตอุปกรณ์เกษตรรายใหญ่ที่สุดของโลก พุ่งขึ้น 7.5% หลังปรับเพิ่มผลกำไรทั้งปี และเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่ดีเกินคาด หุ้นเหมืองลิเธียม อาทิ ลิเวนต์ คอร์ป, อัลเบมาร์ล คอร์ป และเพียดมอนต์ ลิเธียม ร่วงลงราว 10-12% เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับราคาลิเธียมที่อ่อนแอลงในจีน หุ้นเทสลา พุ่งขึ้น 3.10% และเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายมากที่สุดในดัชนี S&P500
สำหรับปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กค่อนข้างเบาบางในวันศุกร์ ขณะที่ตลาดจะปิดทำการในวันจันทร์ (20 ก.พ.) เนื่องในวันประธานาธิบดีสหรัฐ