สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 ก.พ. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 ก.พ. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (17 ก.พ.) แต่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลบท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงเกินคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,826.69 จุด เพิ่มขึ้น 129.84 จุด หรือ +0.39%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,079.09 จุด ลดลง 11.32 จุด หรือ -0.28% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,787.27 จุด ลดลง 68.56 จุด หรือ -0.58%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันศุกร์ (17 ก.พ.) โดยปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีที่เข้าทดสอบเมื่อต้นสัปดาห์ เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเทคโนโลยีนำตลาดร่วงลง ท่ามกลางความวิตกที่เพิ่มขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปเป็นเวลานานกว่าที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 464.30 จุด ลดลง 0.94 จุด หรือ -0.20%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,347.72 จุด ลดลง 18.44 จุด หรือ -0.25%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,482.00 จุด ลดลง 51.64 จุด หรือ -0.33% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,004.36 จุด ลดลง 8.17 จุด หรือ -0.10%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันศุกร์ (17 ก.พ.) โดยหุ้นกลุ่มพลังงานนำตลาดร่วงลง เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลงจากความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลาที่นานขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 8,004.36 จุด ลดลง 8.17 จุด หรือ -0.10% แต่ปรับตัวขึ้น 1.5% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (17 ก.พ.) เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่างสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 2.15 ดอลลาร์ หรือ 2.74% ปิดที่ 76.34 ดอลลาร์/บาร์เรล และร่วงลง 4.2% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 2.14 ดอลลาร์ หรือ 2.51% ปิดที่ 83 ดอลลาร์/บาร์เรล และร่วงลง 3.9% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (17 ก.พ.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรถ่วงราคาทองลง ขณะที่บรรดาเทรดเดอร์คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.6 ดอลลาร์ หรือ 0.09% ปิดที่ 1,850.2 ดอลลาร์/ออนซ์ และร่วงลง 1.3% ในสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 0.5 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 21.715 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 9.6 ดอลลาร์ หรือ 1.03% ปิดที่ 921.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 33.20 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 1,492.50 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรและปอนด์ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (17 ก.พ.) โดยดอลลาร์ปรับตัวขึ้นในระหว่างวันขานรับการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.03% แตะที่ 103.85

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุล โดยแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 134.14 เยน จากระดับ 133.85 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9245 ฟรังก์ จากระดับ 0.9244 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3468 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3429 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดนที่ระดับ 10.4456 โครนา จากระดับ 10.4317 โครนา

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0698 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0687 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ระดับ 1.2049 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2010 ดอลลาร์

Back to top button