“คลัง” เพิ่มทุน “เหมืองโปแตช” EA-TRC ใส่ก้อนแรก เม.ย. จ่อซีโอดีปี 69

บอร์ด “อาเซียนโปแตชชัยภูมิ” เคาะเพิ่มทุนล็อตแรกประเดิม 500 ลบ. “คลัง” สมาชิกอาเซียนขานรับ เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเดือน มี.ค. ก่อนเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่อย่าง EA เข้าถือหุ้น 25-30% ช่วงเดือน เม.ย. เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 69


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ประกอบธุรกิจประเภทการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มทุนก้อนแรกจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งตัวแทนของผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ กระทรวงการคลัง และตัวแทนจากชาติอาเซียน เห็นชอบด้วย และจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไปภายในเดือนมีนาคมนี้

ทั้งนี้ จะมีการทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ถือหุ้นทุกราย เพื่อเรียกชำระเงินเพิ่มทุนงวดแรก คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ เบื้องต้นผู้ถือหุ้นรายเดิม ได้แก่ กระทรวงการคลัง จะเพิ่มทุนในสัดส่วน 20% ของวงเงิน 500 ล้านบาท ส่วนบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC เพิ่มทุน 25% ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุนครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จะใส่เงินเพิ่มทุนประมาณ 25-30% ของวงเงินเพิ่มทุนทั้งหมด

โดยก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาครม.มีมติเห็นชอบมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพไปดูรายละเอียดของโครงการเหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดชัยภูมิ โดยคลังยังสงวนสิทธิถือหุ้นสัดส่วน 20% เท่าเดิม

แหล่งข่าวจาก APOT กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสัดส่วนการถือหุ้นยังมีการปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นรายเดิมจะใช้สิทธิเต็มหรือไม่ และคาดว่าจะมีความชัดเจนวันประชุมผู้ถือหุ้นเดือนมีนาคมนี้ ก่อนปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยภายหลังจากการเพิ่มทุนแล้ว จะมีการเข้าเจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอเงินกู้เป็นแบบซินดิเคตโลน

สำหรับวงเงินทั้งหมดที่จะใช้ดำเนินการโครงการเหมืองแร่โปแตชชัยภูมิ อยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินเพิ่มทุน วงเงิน 20,000 ล้านบาท และส่วนที่สองมาจากเงินกู้ประมาณ 40,000 ล้านบาท คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 นี้

โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้น APOT กว่า 20% ของทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วตาม Basic Agreement สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซีย ประเทศละ 5.96% และรัฐบาลบรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ประเทศละ 0.46%

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีกำลังผลิตแร่โพแทชประมาณ 1.235 ล้านตันต่อปี โดยใช้เวลาพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 3 ปี และสามารถผลิตได้ประมาณ 13.5 ปี (สิ้นสุดประทานบัตรวันที่ 5 ก.พ. 2583) และจะสามารถทดแทนการนำเข้าแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมจากต่างประเทศได้ทั้งหมดประมาณ 700,000-800,000 ตันต่อปี และช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยโพแทสเซียมในราคาที่ถูกลงไม่ต่ำกว่า 20-30%

ขณะที่ปัจจุบันราคาปุ๋ยโพแทสเซียมนำเข้าอยู่ที่ 800 เหรียญฯ ต่อตัน (ประมาณ 26,400 บาทต่อตัน) สูงกว่าเดิมที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 3-4 เท่าตัว ดังนั้นจึงมองว่าการลงทุนเหมืองโปแตชในครั้งนี้จึงคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแน่นอน

สำหรับประมาณการเงินลงทุนช่วงระหว่างการก่อสร้างอยู่ที่ 63,600 ล้านบาท ประมาณการอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Project Internal Rate of Return : IRR) ที่ 15.42% และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ที่ 11,888 ล้านบาท (ใช้อัตราคิดลดที่ประมาณ 7.60-13.00% ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในแต่ละช่วงเวลา)

นอกจากนี้ การประชุมครม.เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอของ APOT ที่ต้องการจ่ายค่าประทานบัตรกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท เป็นแร่โปแตชที่ผลิตได้ให้กับภาครัฐ เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการเจรจากัน

ด้านแหล่งข่าวจากตลาดทุน เปิดเผยว่า EA อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศมาเลเซียที่มียูเรียเป็นจำนวนมาก สามารถนำไปทำแม่ปุ๋ยที่อาจมีการแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้ราคาปุ๋ยลดลง เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรทั้งสองประเทศ

โดยสัดส่วนการลงทุนนั้น บริษัทยังต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ภายหลังจากภาครัฐเปิดทางให้เอกชนเข้าลงทุนในครั้งนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นรายเดิมที่ใช้สิทธิด้วย

สำหรับรายชื่อกรรมการ APOT ทั้ง 10 ราย ประกอบด้วย 1.นางชลิดา พันธ์กระวี 2.พล.ท.มงคล จิวะสันติการ 3.นางพจนีย์ เผ่าสวัสดิ์ 4.นายบวร วงศ์สินอุดม 5.นางดนุชา ยินดีพิธ 6.นายอนันต์ สิริแสงทักษิณ 7.นายมณเฑียร อินทร์น้อย 8.นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ 9.นายฮาจิ ไครุดดิน บิน ฮาจิ อับดุล ฮามิด และ 10.นายเด๊ดดี้ เฟอร์แมน รามาดี้

Back to top button