TU กำไรปี 65 แตะ 7.1 พันล้าน แจกปันผล 0.44 บ. อัดงบปีนี้ 6.5 พันลบ. ดันยอดขายโต 6%
TU ตั้งขาดทุนด้อยค่า-ส่วนแบ่งกำไรลด กดกำไรปี 65 เหลือ 7.1 พันล้านบาท เตรียมแจกปันผล 0.44 บ. ตั้งเป้ายอดขายปีนี้โต 5-6% และเพิ่มงบลงทุนราว 6,000-6,500 ล้านบาท
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 65 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.66 ดังนี้
บริษัทรายงานผลประกอบการปี 65 พบว่ามีกำไรสุทธิ 7,138 ล้านบาท ลดลง 10.92% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 8,013 ล้านบาท สาเหตุมาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าขาดทุนเพิ่มจำนวน 1,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 282.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนขาดทุนอยู่ที่ 269 ล้านบาท และมีการตั้งขาดทุนในส่วนของกลับรายการจากการด้อยค่าสินทรัพย์ทางการเงินเป็น 178 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 394.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนขาดทุน 36 ล้านบาท
แม้ว่าผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ของ TU ว่ายอดขายทั่วโลกโดดเด่นจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารทะเลบรรจุกระป๋องที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคที่ยังให้ความไว้วางใจในไทยยูเนี่ยนและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่ตอบโจทย์ความต้องการในเรื่องของสุขภาพและโภชนาการ ส่งผลให้ไตรมาสสุดท้ายของปีมียอดขาย 39,613 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% และกำไรจากการดำเนินงาน 2,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนเผยยอดขายตลอดปี 2565 เพิ่มขึ้น 10.3% อยู่ที่ 155,586 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 27,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตามจากบริษัททำกำไรสุทธิประจำปี 2565 อยู่ที่ 7,138 ล้านบาท ทั้งนี้ทางบอร์ดบริษัทยังสามารถประกาศจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลัง งวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.44 บาท วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 3 มี.ค. 2566 โดยกำหนดวันที่จ่ายปันผล 27 เม.ย. 2566 โดยทำให้เงินปันผลตลอดปีอยู่ที่ 0.84 บาทต่อหุ้น และบริษัทยังคงจ่ายอัตราเงินปันผลตอบแทนในระดับดีต่อเนื่องอยู่ที่อัตรา 5.3%
สำหรับในปี 2565 บริษัทฯ มียอดขายจากธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้น 12.8% จากราคาขายที่เพิ่มขึ้นและความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเอเชียและสหรัฐอเมริกาที่มีการปล่อยสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตรงใจผู้บริโภค สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงทำผลงานได้ดี ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบจากปี 2564 อยู่ที่ 21,693 ล้านบาท ซึ่งมาจากความต้องการอาหารสัตว์ที่พุ่งสูงและราคาขายที่เพิ่มขึ้น
ด้าน นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและยอดขายที่ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีความผันผวน ธุรกิจหลักของเรายังคงเป็นหัวใจสำคัญ
ขณะเดียวกัน มีการต่อยอดธุรกิจให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ยังคงพัฒนาธุรกิจเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่องทั้งธุรกิจส่วนประกอบอาหาร อาหารเสริม และโปรตีนทางเลือก ทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เน้นนวัตกรรมและจะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
โดยธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องมีบทบาทอย่างมากในยอดขายของบริษัทในปี 2565 มีสัดส่วนถึง 43% ของรายได้ทั้งหมด ตามมาด้วยธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นอยู่ที่ 36% และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 14% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2564 และธุรกิจเพิ่มมูลค่าและอื่นๆ อีก 7% ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโต อย่างรวดเร็วและมีส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในปีที่ผ่านมา
สำหรับ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยถือเป็นหุ้นไอพีโอที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย และยังเป็นปัจจัยสำคัญในการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนของไทยยูเนี่ยนให้อยู่ที่ระดับ 0.54 เท่า ณ สิ้นปี 2565 เปรียบเทียบกับปี 2564 ที่อยู่ในระดับ 0.99 เท่า
นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังมีธุรกิจกระจายตัวอยู่ทั่วโลก โดยสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาคมีดังนี้ สหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ที่ 44%, ยุโรป 26%, ประเทศไทย 11%, และภูมิภาคอื่นๆ 19%
อีกทั้งในปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังมีการขยายโอกาสทางธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุน 10 ล้านเหรียญแคนาดาในบริษัท มาร่า รีนิวเอเบิลส์ คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในบริษัทผู้นำการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากสาหร่ายที่มีการเพาะเลี้ยงขึ้นอย่างยั่งยืนของโลก และไทยยูเนี่ยนติดอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน และได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร
นับเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์ความยั่งยืนหรือ SeaChange® และด้วยแนวทางของบริษัทในการดูแลความเป็นอยู่ของผู้คน ไปพร้อมกับการดูแลท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์ ไทยยูเนี่ยนยังได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรการประมงเพื่อความยั่งยืน Sustainable Fisheries Partnership (SFP) เพื่อเดินหน้าพัฒนาความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
“อย่างไรก็ตามในปี 2566 แม้ว่าจะยังคงเห็นภาวะเงินเฟ้อในทุกภูมิภาคทั่วโลกที่ไทยยูเนี่ยนดำเนินธุรกิจอยู่ แต่ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า การที่ไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาว ตลอดจนวินัยทางการเงิน และการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางธุรกิจ จะทำให้ธุรกิจของเราเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยไทยยูเนี่ยนตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 5-6 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ และเพิ่มงบลงทุนอยู่ที่ 6,000-6,500 ล้านบาท” นายธีรพงศ์ กล่าว