CKP รายได้ขายไฟ-ส่วนแบ่งร่วมค้าพุ่ง ดันกำไรปี 65 แตะ 2.4 พันล้าน แจกปันผล 0.085 บ.

CKP เปิดกำไรปี 65 โต 12% แตะ 2.4 พันล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2.2 พันล้านบาท รับรายได้ขายไฟเพิ่มขึ้น รวมถึงส่วนแบ่งร่วมค้าเพิ่ม เตรียมแจกปันผล 0.085 บ. ขึ้น XD วันที่ 3 พ.ค.66 และกำหนดจ่าย 22 พ.ค.66


บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ดังนี้

สำหรับ CKP ในปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,436.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.80% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,179.01 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำจำนวน 10,594.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 8,505.2 ล้านบาท และรายได้ค่าบริหารโครงการอยู่ที่ 309.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 292.6 ล้านบาท และรายได้อื่นอยู่ที่ 23.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 410.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 4.6 ล้านบาท

อีกทั้งบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมจำนวน 2,128.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 1,527.70 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน XPCL ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของบริษัท เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยมากกว่า 9 ปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKP เปิดเผยว่า ในปี 2565 CKP มีผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่องในทุกมิติของการดำเนินงาน ทั้งในด้านรายได้ กำไร สินทรัพย์ และส่วนแบ่งผลกำไรจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ หนี้สินของบริษัทฯ ลดลงตามแนวทางการบริหารจัดการทางการเงิน

โดยในปีที่ผ่านมา มีรายได้รวม 11,418.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 9,334.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,083.6 ล้านบาท คิดเป็น 22.3% เป็นรายได้สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯและเป็นครั้งแรกที่มีรายได้รวมเกิน 10,000 ล้านบาท

ส่วนกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของ CKPower ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยในปี 2565 บริษัท มีกำไร 2,436.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไร 2,179.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 257.2 ล้านบาท คิดเป็น 11.8% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 39.3% จากปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี (XPCL) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยมากกว่าปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และผลประกอบการของ XPCL ในภาพรวมเติบโตกว่าปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับฐานะทางการเงินของ CKPower ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีสินทรัพย์ 69,846.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3% ขณะเดียวกัน มีหนี้สินรวม 31,906.6 ล้านบาท ลดลง 2.9% จากการทยอยชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และจากการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (Net Interest-bearing Debt to Equity Ratio) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 0.59 เท่า

“CKPower มีผลประกอบการที่ดี แม้จะต้องเผชิญสถานการณ์ค่าพลังงานที่สูงตามสถานการณ์พลังงานในตลาดโลก ทั้งนี้เป็นผลมาจากกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาผันผวน เราตั้งเป้าที่จะเข้าไปขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในภูมิภาค ซึ่งทุกโครงการจะใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดจากเดิม 89% เป็น 95% ภายในปี 2567 นอกจากนี้ แม้ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ CKPower ในปี 2566 แต่ทั้งนี้ หนี้สินระยะยาวตามงบการเงินรวมของ CKPower ร้อยละ 83 เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ และในส่วนของบริษัทร่วม XPCL ก็มีนโยบายบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยผ่านการทำ Interest Rate Swap และการออกหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยมีการติดตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยและบริหารจัดการหนี้สินระยะยาวให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง” นายธนวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2565 CKPower มีอันดับเครดิตองค์กร (ทริสเรตติ้ง) ที่ “A” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” และ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น ‘หุ้นยั่งยืน’ ประจำปี 2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และได้รับรางวัล Rising Star Sustainability Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้รับคะแนนการกำกับดูแลกิจการ (CG Score) ในระดับ “ดีเลิศ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย รวมถึง ได้รับรางวัล ASEAN CG Scorecard (ACGS) ประจำปี 2564 ประเภท ASEAN Asset Class จาก ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

“จากความสำเร็จของ CKPower ในด้านผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่องอย่างมั่นคงและยั่งยืนในฐานะผู้พัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพิสูจน์แล้วจากรางวัลที่บริษัทได้รับจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทยังคงยืนหยัดที่จะสร้างความมั่นคงในธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค” นายธนวัฒน์ กล่าว

โดย CKPower มุ่งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emissions) ภายในปี 2593 และในปี 2565 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเครือของ CKPower ผลิตไฟฟ้าสะอาดได้ถึง 9,921 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ซึ่งเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5.0 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

Back to top button