สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 ก.พ. 2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 ก.พ. 2566
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (24 ก.พ.) และปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้น หลังจากการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่พุ่งขึ้นเกินคาด
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,816.92 จุด ลดลง 336.99 จุด หรือ -1.02%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,970.04 จุด ลดลง 42.28 จุด หรือ -1.05% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,394.94 จุด ลดลง 195.46 จุด หรือ -1.69%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันศุกร์ (24 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกว่าธนาคารกลางต่าง ๆ จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 457.70 จุด ลดลง 4.80 จุด หรือ -1.04%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,187.27 จุด ลดลง 130.16 จุด หรือ -1.78%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,209.74 จุด ลดลง 265.95 จุด หรือ -1.72% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,878.66 จุด ลดลง 29.06 จุด หรือ -0.37%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันศุกร์ (24 ก.พ.) หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดของสหรัฐทำให้เกิดความวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป นอกจากนี้ การร่วงลงกว่า 40% ของหุ้นซีนีเวิลด์ถ่วงตลาดลงด้วย
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,878.66 จุด ลดลง 29.06 จุด หรือ -0.37% และลดลง 1.6% ในสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (24 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่ารัสเซียจะปรับลดการผลิตและการส่งออกน้ำมันในเดือนหน้า
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 93 เซนต์ หรือ 1.23% ปิดที่ 76.32 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 0.3% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 1.16% ปิดที่ 83.16 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 0.2% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (24 ก.พ.) โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่สูงเกินคาด ซึ่งทำให้บรรดานักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 9.70 ดอลลาร์ หรือ 0.53% ปิดที่ 1,817.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. และปรับตัวลง 1.8% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่ามา
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 49.60 เซนต์ หรือ 2.33% ปิดที่ 20.81 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 37.60 ดอลลาร์ หรือ 3.98% ปิดที่ 907.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 51.30 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 1,377.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (24 ก.พ.) หลังจากการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่พุ่งขึ้นเกินคาด จะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.6% แตะที่ 105.2157
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 136.39 เยน จากระดับ 134.64 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9404 ฟรังก์ จากระดับ 0.9335 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3604 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3547 ดอลลาร์แคนาดา และยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดนที่ระดับ 10.4959 โครนา จากระดับ 10.4303 โครนา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0551 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0596 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1946 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2017 ดอลลาร์