UAC ปี 65 โกยรายได้ 1.8 พันล้าน แจกปันผล 0.12 บ. XD 9 มี.ค.นี้

UAC ปิดงบปี 65 กวาดรายได้ 1,804.92 ล้านบาท รับอานิสงศ์ธุรกิจเทรดดิ้ง-ปิโตรเลียม ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมแจกปันผล 0.12 บ. ขึ้นเครื่องหมาย XD 9 มี.ค.นี้


บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงผลประกอบการงวดปี 2565 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 1,670.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 204.61 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 13.95% จากงวดเดียวกันของปีก่อน กำไรส่วนที่เป็นของบริษัท 78.86 ล้านบาท ลดลง 68.05% บริษัทฯ ได้รับเงินปันผลระหว่างกาลปี 2565 จากบริษัทย่อย UAPC จำนวน 72 ล้านบาท และยังคงได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมอย่างต่อเนื่องที่ 85.41 ล้านบาท ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากธุรกิจไบโอดีเซลมีการปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วจาก B7 เป็น B5 ทำให้มีการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเพราะความต้องการใช้ลดลง ทั้งนี้ EBITDA ปี 2565 อยู่ที่ 241.15 ล้านบาท และ Gross Margin 14.32% ตามลำดับ

โดยในปี 2565 บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่องและขยายธุรกิจด้วยความระมัดระวัง พยายามควบคุมต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์การชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเงินเฟ้อ และการปรับสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยกลุ่มธุรกิจ Trading ซึ่งมีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,068.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการรับรู้รายได้ของยอดขายในกลุ่ม Industrial 82.63 ล้านบาท

ขณะที่ในส่วน Energy มียอดขายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 55.05 ล้านบาท จากปัญหาการขนส่งสินค้าจาก Principle หลักบางรายที่ล่าช้ากว่ากำหนด และจากลูกค้าหลักที่มีการชะลอการซื้อออกไป แต่อย่างไรก็ตาม Gross Profit Margin ของกลุ่มธุรกิจ Trading ยังสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และบริษัทคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจในปี 2566 มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นจากการที่ประเทศจีนเปิดประเทศได้ต่อเนื่อง

ด้านกลุ่มธุรกิจ Manufacturing – Energy มีรายได้รวมทั้งสิ้น 211.85 ล้านบาท จากการดำเนินงานของโรงงาน PPP ได้รับ Associated Gas ตามแผน บวกกับราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โรงไฟฟ้าเสาเถียรและโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าแผนที่วางไว้ และโรงไฟฟ้าพืชพลังงานแม่แตงมีรายได้ลดลงเนื่องจากมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ บริษัทฯ รับรู้รายเพิ่มขึ้นจากกลุ่มธุรกิจ Petroleum ของ UAC Utilities ที่เริ่มมีการขุดเจาะน้ำมันในแหล่งบูรพา (L11/43) ตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 ที่ผ่านมา โดยส่งขายไปยังกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน มีรายได้ 13.98 ล้านบาท ส่วนกลุ่มธุรกิจ Manufacturing – Chemicals มีรายได้รวม 390.13 ล้านบาท แต่กำไรขั้นต้นยังต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี

อย่างไรก็ดีที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เตรียมนำมติเสนอต่อผู้ถือหุ้น ในวาระเพื่อขออนุมัติจ่ายปันผลงวดปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.65) ในอัตราหุ้นละ 0.12 บาท รวมเป็นเงินปันผล 80.11 ล้านบาท โดยวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 10 มีนาคม 2566 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 9 มีนาคม 2566 เพื่อดำเนินการจ่ายปันผลตามผลการดำเนินงานประจำปี ในวันที่ 19 เมษายน 2566

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2566 นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ UAC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด -พลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการศึกษาการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการร่วมทุนพันธมิตรในระดับชั้นนำ เพื่อยกระดับองค์กร สร้างมูลค่าเพิ่มสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยตั้งเป้าการเติบโตของรายได้รวมเพิ่มขึ้น 20% พร้อมทั้งรักษาระดับการเติบโตของอัตรากำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 25% ของรายได้ยอดขายรวม

โดยในปีนี้จะเห็นความชัดเจนจากโครงการต่างๆ ที่ทาง UAC ได้ลงทุนในช่วงที่ผ่านมา อาทิ โครงการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมหมายเลข L11/43 และ L10/43, โครงการโรงไฟฟ้าภูผาม่าน (PPM) 3 เมกะวัตต์ จะขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 2/2566

ส่วนโครงการ บริษัท เวียงจันทน์บริหารขี้เหยื้อ จำกัด (VWM) ที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว อยู่ระหว่างการก่อสร้างและนำเข้าเครื่องจักร โดยคาดว่าจะนำเข้าแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566 ส่วนความคืบหน้างานก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จประมาณ 90%

ขณะที่โครงการ EECi EV Charger Station โดย UAC Energy ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้เช่าพื้นที่จอดรถของสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เพื่อติดตั้งและให้บริการ EV Charging Station สถานี SUPERFAST by UAC ร่วมกับสถานีพันธมิตร EleX by EGAT ภายในวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า

บริษัทฯรอผลการตัดสินรอบสุดท้ายในเดือนมีนาคมนี้ ภายใต้การยื่นประมูลโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ที่ผ่านคุณสมบัติแล้ว 6 โครงการ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 14.25 เมกะวัตต์ รวมถึงแผนขยายการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ได้ร่วมมือกับ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC)” นายชัชพล กล่าว

Back to top button