ดัชนีความเชื่อมั่น ม.ค.66 ขยายตัวต่อเนื่อง รับท่องเที่ยวฟื้น
คลังเปิดตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ม.ค.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.7 จากระดับ 49.7 ในเดือนก่อน รับแรงหนุนบริโภคเอกชนเป็นหลัก-แรงกดดันจากเงินเฟ้อลดลง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน ในขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.1% ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.1% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 32.3% สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.7% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 0.9%
โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.7 จากระดับ 49.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.5%
ขณะที่ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 6.6% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -5.6% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 0.5% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 12.5% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -5.3%
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมกราคม 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.7% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล เป็นต้น
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.9 จากระดับ 92.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยองค์ประกอบที่สำคัญของดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 5.02% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.04% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 60.7% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 0.55% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด
สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 225.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ