รอบใหม่ “หุ้นส่งออก” รับ “ดอลลาร์แข็ง” ดัชนี PCE ดันเฟดขึ้นดอกเบี้ย

กลายเป็นเดือนความรัก “สีแดง” หลังจากช่วงที่ผ่านมาต่างชาติยังเทขายต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “เฟด” เตรียมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หลังดัชนีเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ส่งผลให้ สกุลเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกรอบ


เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถือเป็นเดือนที่ตลาดทุนไทยมีความผันผวน จากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ ที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามากดดัน โดยเฉพาะสถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ในสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนจะเริ่มชะลอตัว จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่กลับมีตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในหลายๆ ตัวออกมาค่อนข้างดีกว่าตลาดคาด เช่น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payrolls) ดัชนี PMI และดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนในเดือนมกราคมปีนี้ สูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธันวาคม 2565

ขณะที่ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนในเดือนมกราคมสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 4.4% และ 4.6% ในเดือนธันวาคม ซึ่ง PCE เป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ และเร่งในการใช้มาตรการทางด้านการเงิน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ  นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดสาขาต่างๆ ได้ออกมาส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยังคงมีต่อไป ทำให้ตลาดกลับมาทบทวนคาดการณ์ใหม่ ซึ่งเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น

มุมมองของ FedWatch Tool ของ CME Group ประเมินว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 41.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้วให้น้ำหนักเพียง 2.8% นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 67.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มกราคม 2565 โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 66.4 จากระดับ 64.9 ในเดือนกราคม

ด้าน นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่า ตัวเลข PCE ที่สูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้เกิดความกังวลที่ เฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า และในทางกลับกันเงินบาทไทยปรับตัวอ่อนลง ทำให้ภาพระยะสั้นนี้ตลาดทุนไทยจะยังมีแรงขายของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง

สำหรับหุ้นที่นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่า ได้รับประโยชน์จากการอ่อนลงของเงินบาทในระยะสั้น ต้องพิจารณาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม และคัดเลือกออกมาเป็นรายตัว ได้แก่ กลุ่มส่งออกอาหารแช่แข็งอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ซึ่งนอกจากจะได้รับอานิสงส์ดอลลาร์แข็งค่า แล้วยังมีความโดดเด่นเฉพาะตัวเนื่องจากมาร์จินที่ดีขึ้น และการส่งออกค่อยๆ ฟื้นตัว

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอานิสงส์ดอลลาร์แข็งค่า อาทิ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ซึ่งมีพีอีต่ำสุดในกลุ่ม รวมถึงการปลดล็อกปัญหาชิพขาดแคลนที่สถานการณ์ต่างๆเริ่มทยอยดีขึ้น

ส่วนกลุ่มโลจิสติกส์ที่รับอานิสงส์จากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อีกทอด นั้นคือหุ้นของ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE เพราะลูกค้าหลักคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และ อาจได้รับอานิสงส์เส้นทางขนส่งไปยังจีนและฮ่องกงที่อาจมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมุมมองและคำแนะนำเบื้องต้นจากนักวิเคราะห์ที่เหล่านักลงทุนต้องนำข้อมูลไปทำการบ้าน และหาจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าไปลงทุน รับปัจจัยสกุลเงินดอลลาร์ที่จะกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้

Back to top button