สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 มี.ค. 2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 มี.ค. 2566
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันพุธ (1 มี.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 โดยตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นทะลุระดับ 4% หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,661.84 จุด เพิ่มขึ้น 5.14 จุด หรือ +0.02%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,951.39 จุด ลดลง 18.76 จุด หรือ -0.47% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,379.48 จุด ลดลง 76.06 จุด หรือ -0.66%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันพุธ (1 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นบีเอ็นพี พาริบาส์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของยูโรโซน แต่การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มสินค้าหรูหราซึ่งพึ่งพาตลาดจีนได้ช่วยพยุงตลาด หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนได้ช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 457.68 จุด ลดลง 3.43 จุด หรือ -0.74%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,234.25 จุด ลดลง 33.68 จุด หรือ -0.46%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,305.02 จุด ลดลง 60.12 จุด หรือ -0.39% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,914.93 จุด เพิ่มขึ้น 38.65 จุด หรือ +0.49%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพุธ (1 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจีนเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมการผลิตขยายตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,914.93 จุด เพิ่มขึ้น 38.65 จุด หรือ +0.49%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (1 มี.ค.) หลังจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 64 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 77.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 84.31 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (1 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 8.70 ดอลลาร์ หรือ 0.47% ปิดที่ 1,845.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 2.40 เซนต์ หรือ 0.11% ปิดที่ 21.095 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 6.30 ดอลลาร์ หรือ 0.66% ปิดที่ 961.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 16.70 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 1,437.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (1 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในระดับสูงของเยอรมนี ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.37% แตะที่ระดับ 104.4849
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0656 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0582 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2014 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2054 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 136.15 เยน จากระดับ 136.11 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9402 ฟรังก์ จากระดับ 0.9406 ฟรังก์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3608 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3629 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.4427 โครนา จากระดับ 10.4501 โครนา
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการวานนี้ (1 มี.ค.) เนื่องในวันเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของเกาหลี