SCB EIC ชู 3 ตลาด หนุนส่งออกไทยปีนี้ฟื้น
SCB EIC ชี้แรงหนุนจากจีนเปิดประเทศ-3 ตลาด ตะวันออกกลาง, CLMV และลาตินอเมริกา แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดี หนุนส่งออกไทยปีนี้ฟื้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนมกราคม ปี 66 อยู่ที่ 20,249.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัว 4.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัว 4 เดือนติดต่อกัน แม้การส่งออกในเดือนนี้หดตัวน้อยลงจาก 14.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในเดือนธันวาคม 65 แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาลพบว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคมหดตัว 3.0% จากเดือนก่อน แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) พบว่าหดตัว 4.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ลดลงจาก 13.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในเดือนธันวาคม
ทั้งนี้การส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือนมกราคมหดตัวชะลอลงทุกกลุ่ม โดย (1) สินค้าเกษตรหดตัว 2.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน น้อยกว่า 11.5% ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้การส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่แปรรูปยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกข้าวกลับมาขยายตัวสูงถึง 72.3% จากปัจจัยฐานต่ำและผลจากนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดียที่ทำให้ราคาข้าวโลกและความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัวต่อเนื่องได้เป็นเดือนที่ 8 (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 3.3% น้อยกว่า 10.7% ในเดือนธันวาคม แม้การส่งออกผลไม้กระป๋อง และแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และน้ำตาลทรายยังหดตัว แต่การส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ขยายตัวสูงขึ้นมากถึง 124%
(3) สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 5.4% น้อยกว่า 15.7% ในเดือนธันวาคม โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยังขยายตัวได้ หลังจากอุปทานชิปทยอยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สามารถผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกได้มากขึ้นในส่วนของ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัว 6.8% จากที่เคยหดตัว 4.8% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
โดยภาพรวมตลาดส่งออกของไทยในเดือนมกราคมส่วนใหญ่หดตัวน้อยลง บางตลาดสำคัญเริ่มกลับมาขยายตัว สะท้อนอุปสงค์โลกที่เริ่มเห็นสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างแม้จะยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว นำโดย (1) ตลาดจีนหดตัว 11.4% น้อยลงจาก 20.8% ในเดือนก่อน (2) ตลาดสหรัฐฯ หดตัว 4.7% เทียบกับ 3.9% ในเดือนก่อน สอดคล้องกับสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ (3) ตลาดยุโรป (EU28) พลิกกลับมาขยายตัวได้ 2.7% หลังจากหดตัว 0.9% ในเดือนก่อน ตามทิศทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยน้อยลง (3) ตลาด CLMV หดตัว 11.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 หลังจากขยายตัวต่อเนื่องนาน 14 เดือน เทียบกับ 11.8% ในเดือนก่อน ขณะที่ตลาด ASEAN 5 พลิกกลับมาขยายตัว 2.3% หลังจากหดตัวรุนแรง 3 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวดีต่อเนื่อง 23.6% เร่งขึ้นจาก 4.7% ในเดือนธันวาคม นับว่าเป็นตลาดที่ขยายตัวได้สูงสุดในเดือนมกราคม
ด้านมูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือนมกราคมอยู่ที่ 24,899.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัว 5.5% หลังหดตัวครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 65 การนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ขยายตัว ยกเว้นสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่หดตัวต่อเนื่อง 10.3% และ 7.4% ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวสูง 84.4% (หดตัว 13.2% ในเดือนก่อน) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่ขยายตัวสูงถึง 132.0% (หดตัว 16.6% ในเดือนก่อน) นอกจากนี้การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งกลับมาขยายตัวสูงถึง 28.4% เทียบกับภาพหดตัวมาตลอดปี 65 ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยยังขยายตัวได้ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่มูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับสัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือนมกราคมขาดดุล 4,649.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10
สำหรับในระยะต่อไปการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอลงมาก แต่ด้วยเศรษฐกิจโลกที่จะไม่แย่ลงมากเท่าที่เคยประเมินไว้ก่อนนี้ คาดว่าจะสามารถสนับสนุนการส่งออกให้ปรับดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปได้บ้าง โดย (1) ดัชนี Global Manufacturing PMI อยู่ที่ 50.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ แม้ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับทรงตัวเป็นครั้งแรก หลังจากหดตัวมานาน 6 เดือน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลของอุปทานคอขวดทยอยคลี่คลาย สะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 65 มาอยู่ที่ระดับ 50.8 ขณะที่ภาคอุปสงค์ยังฟื้นตัวได้ช้ากว่า สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่แม้ปรับดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับหดตัวที่ 49.3 และ 48.3 ตามลำดับ
(2) การส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ยังหดตัว 7.5% แม้หดตัวในอัตราชะลอจากเดือนก่อนหน้า 16.6% แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาลในช่วงเทศกาลตรุษจีน หากหักปัจจัยดังกล่าวออกการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์จะยังคงติดลบสูง (3) เครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ (QuantCube International Trade Index) บ่งชี้ว่าการค้าโลกอ่อนแอลงต่อเนื่อง การค้าระหว่างประเทศของเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร อ่อนแอลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและยังไม่เห็นสัญญาญการฟื้นตัวที่ชัดเจน
อย่างไรก็ดีภาคการส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในจีนหลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ในช่วงปลายปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งผ่านมายังอุปสงค์การนำเข้าสินค้ามากขึ้น ในครึ่งหลังของปีนี้ โดยเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศของจีนที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ชะลอลงบ้างในช่วงต้นปีจากเทศกาลตรุษจีนที่ภาคธุรกิจหยุดยาว อีกทั้ง ภาคการผลิตของจีนเริ่มเห็นการฟื้นตัวแล้ว โดยดัชนี Manufacturing PMI ของจีนในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 52.6 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เมษายน 52 เช่นเดียวกับยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ และการนำเข้าของจีนที่กลับมาขยายตัวในรอบกว่าครึ่งปี สะท้อนให้เห็นอุปสงค์จากจีนที่มีทิศทางที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ แม้แนวโน้มการส่งออกไทยจะเผชิญปัจจัยลบดังกล่าว SCB EIC ประเมินว่า มีตลาด 3 แห่งที่มีศักยภาพและเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทยในปีนี้ ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย อีกทั้ง เศรษฐกิจภูมิภาคนี้มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจโลก ตลาด CLMV ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐของไทยมาก เช่น การเร่งรัดการส่งออกผ่านการค้าชายแดน รวมถึง CLMV มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีกว่าเศรษฐกิจโลกเช่นกัน และตลาดลาตินอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ โดยตลาดลาตินอเมริกายังเป็นตลาดเล็กจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ยังเผชิญข้อจำกัดด้านระยะทาง (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ In focus : เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทยในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว)
ทั้งนี้ SCB EIC กำลังอยู่ระหว่างประเมินแนวโน้มการส่งออก และจะเผยแพร่ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกและประมาณการภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้