สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 มี.ค. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 มี.ค. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดในวันอังคาร (7 มี.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาด เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,856.46 จุด ร่วงลง 574.98 จุด หรือ -1.72%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,986.37 จุด ลดลง 62.05 จุด หรือ -1.53% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,530.33 จุด ร่วงลง 145.40 จุด หรือ -1.25%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันอังคาร (7 มี.ค.) โดยปรับตัวลงวันเดียวมากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดแสดงความเห็นสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 460.60 จุด ลดลง 3.58 จุด หรือ -0.77%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,339.27 จุด ลดลง 33.94 จุด หรือ -0.46%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,559.53 จุด ลดลง 94.05 จุด หรือ -0.60% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,919.48 จุด ลดลง 10.31 จุด หรือ -0.13%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันอังคาร (7 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่การอ่อนค่าของค่าเงินปอนด์ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มส่งออก

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,919.48 จุด ลดลง 10.31 จุด หรือ -0.13%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันอังคาร (7 มี.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 2.88 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 77.58 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ดิ่งลง 2.89 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 83.29 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมัน WTI และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ต่างก็ร่วงลงเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ปีนี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์วันอังคาร (7 มี.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาด เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟด

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 34.60 ดอลลาร์ หรือ 1.87% ปิดที่  1,820 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ปีนี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 93.60 เซนต์ หรือ 4.43% ปิดที่ 20.199 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 42.30 ดอลลาร์ หรือ 4.32% ปิดที่ 936.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 53.90 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 1,370.60 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (7 มี.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาด เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟด

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.2% แตะที่ระดับ 105.5995

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน 137.09 เยน จากระดับ 136.03 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ  0.9415 ฟรังก์ จากระดับ 0.9320 ฟรังก์

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3758 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3617 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7307 โครนา จากระดับ 10.4594 โครนา

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0552 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0675 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1831 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2017 ดอลลาร์

ตลาดหุ้นอินเดียปิดทำการวานนี้ (7 มี.ค.) เนื่องในเทศกาลโฮลี

Back to top button