“ดาวโจนส์ฟิวเจอร์” ลบกว่า 300 จุด หวั่นวิกฤต “SVB-SB” กระทบเสถียรภาพแบงก์

“ดาวโจนส์ฟิวเจอร์” ปรับตัวลดลงกว่า 368 จุด นักลงทุนหวั่นการล่มสลายของ “ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์” และ “ซิกเนเจอร์ แบงก์” จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ ปรับตัวลงกว่า 300 จุดในวันนี้ โดยถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตสภาพคล่อง

โดย ณ เวลา 19.56 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 368 จุด หรือ 1.14% สู่ระดับ 31,797 จุด

ขณะที่ราคาหุ้นของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ร่วงลงอย่างต่อเนื่องในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในวันนี้ ล่าสุด ดิ่งลงกว่า 70% โดยถูกกดดันจากการที่รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือ SB

นักลงทุนกังวลว่าการล่มสลายของ SVB และ SB จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร โดยลุกลามไปยังธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ เช่น FRB แม้ว่า FRB มีการดำเนินนโยบายแตกต่างจาก SVB ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ SB เป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี

โดยราคาหุ้น FRB ดิ่งลงอย่างหนัก แม้กระทรวงการคลังสหรัฐยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB และ SB จะสามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวนตั้งแต่วันนี้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” เพื่อปกป้องสถาบันการเงินอื่นๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB และ SB

ด้านคณะกรรมการผู้ว่าการเฟดจะจัดการประชุมฉุกเฉินในวันนี้ เวลา 11.30 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือคืนนี้ เวลา 22.30 น.ตามเวลาไทย

ทั้งนี้ เฟดระบุในแถลงการณ์ว่า การประชุมดังกล่าวจะเป็นการทบทวนและตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าและอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Advance and Discount Rate)

นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 50% ต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ซึ่งถือเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของภาคธนาคารสหรัฐนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์สล้มละลายในปี 2551

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 54.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนไม่เคยให้น้ำหนักต่อการคาดการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ เฟดดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมาเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของ SVB

นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังได้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลดีดตัวขึ้นตาม และส่งผลให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลง เนื่องจากราคาพันธบัตรจะปรับตัวผกผันต่ออัตราผลตอบแทน

โดยรัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของ SVB หลังจากที่ราคาหุ้น SVB ทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดการเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดย SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว เนื่องจากราคาพันธบัตรปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง และได้แห่ถอนเงินฝากจาก SVB

ขณะที่ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในระบบธนาคารของสหรัฐ

ทั้งนี้ VIX พุ่งขึ้นมากกว่า 4 จุด สู่ระดับ 29.03 ใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2565 โดยหากดัชนีดีดตัวเหนือระดับ 30 จะบ่งชี้ว่าตลาดมีความเสี่ยง ขณะที่มีความผันผวนสูง

โดยก่อนหน้านี้ ดัชนี VIX อยู่ในระดับต่ำเพียง 17.06 ในช่วงเริ่มต้นปี 2566

Back to top button