สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 ม.ค. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 ม.ค. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในวันอังคาร (14 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลหลังจากรัฐบาลสหรัฐและทั่วโลกได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถควบคุมวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่อ่อนแรงลงยังเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,155.40 จุด พุ่งขึ้น 336.26 จุด หรือ +1.06%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,919.29 จุด เพิ่มขึ้น 63.53 จุด หรือ +1.65% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,428.15 จุด พุ่งขึ้น 239.31 จุด หรือ +2.14%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นในวันอังคาร (14 มี.ค.) โดยเป็นการปรับตัวขึ้นวันเดียวมากที่สุดในรอบเกือบ 3 เดือน หลังได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งร่วงลงก่อนหน้านี้จากวิกฤตล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วย

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 449.56 จุด เพิ่มขึ้น 6.76 จุด หรือ +1.53%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,141.57 จุด เพิ่มขึ้น 130.07 จุด หรือ +1.86%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,232.83 จุด เพิ่มขึ้น 273.36 จุด หรือ +1.83% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,637.11 จุด เพิ่มขึ้น 88.48 จุด หรือ +1.17%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันอังคาร (14 มี.ค.) โดยเป็นการปรับตัวขึ้นวันเดียวมากที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน ขณะที่หุ้นกลุ่มการเงินฟื้นตัวขึ้นหลังจากร่วงลงอย่างหนักท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังเกิดวิกฤต SVB ด้วย

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,637.11 จุด เพิ่มขึ้น 88.48 จุด หรือ +1.17% หลังร่วงลงวันเดียวหนักที่สุด 2.6% ในรอบกว่า 8 เดือน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในวันอังคาร (14 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า วิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 3.47 ดอลลาร์ หรือ 4.6% ปิดที่ 71.33 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 3.32 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 77.45  ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมัน WTI และสัญญาน้ำมันเบรนท์ ต่างก็ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2565 และต่างก็ร่วงลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.ปีนี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (14 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 5.60 ดอลลาร์ หรือ 0.29% ปิดที่ 1,910.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 11.70 เซนต์ หรือ 0.53% ปิดที่ 22.04 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 7.60 ดอลลาร์ หรือ 0.76% ปิดที่ 997.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 41 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 1,517.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (14 มี.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้ออ่อนแรงลง ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.01% แตะที่ระดับ 103.5933

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3681 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3727 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.4665 โครนา จากระดับ 10.5984 โครนา

แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.16 เยน จากระดับ 133.31 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9132 ฟรังก์ จากระดับ 0.9110 ฟรังก์

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0740 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0733 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2172 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2198 ดอลลาร์

Back to top button