สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 มี.ค. 2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 มี.ค. 2566
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (15 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินของธนาคารเครดิต สวิส ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้บดบังกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์ลดช่วงลบในช่วงท้ายตลาด หลังจากสื่อรายงานว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางสร้างเสถียรภาพการเงินของเครดิต สวิส
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,874.57 จุด ลดลง 280.83 จุด หรือ -0.87%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,891.93 จุด ลดลง 27.36 จุด หรือ -0.70% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,434.05 จุด เพิ่มขึ้น 5.90 จุด หรือ +0.05%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันพุธ (15 มี.ค.) โดยปรับตัวลงวันเดียวมากที่สุดในรอบกว่า 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารอีกครั้งท่ามกลางความวิตกครั้งใหม่เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ในภาคธนาคาร ขณะที่หุ้นเครดิต สวิส ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดครั้งใหม่เป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 436.45 จุด ร่วงลง 13.11 จุด หรือ -2.92%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,885.71 จุด ร่วงลง 255.86 จุด หรือ -3.58%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,735.26 จุด ลดลง 497.57 จุด หรือ -3.27% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,344.45 จุด ลดลง 292.66 จุดหรือ -3.83%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดดิ่งลงในวันพุธ (15 มี.ค.) สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี โดยหุ้นเครดิต สวิส ที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลังธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ล้มละลายนั้น ทำให้นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับผลกระทบที่ลุกลามในภาคธนาคาร
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,344.45 จุด ร่วงลง 292.66 จุดหรือ -3.83%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กร่วงลงกว่า 5% ปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปีในวันพุธ (15 มี.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านการเงินของธนาคารเครดิต สวิส
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 3.72 ดอลลาร์ หรือ 5.2% ปิดที่ 67.61 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ดิ่งลง 3.76 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 73.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ในวันพุธ (15 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐและยุโรป
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 20.40 ดอลลาร์ หรือ 1.07% ปิดที่ 1,931.30 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ปีนี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 15.80 เซนต์ หรือ 0.72% ปิดที่ 21.882 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 27 ดอลลาร์ หรือ 2.71% ปิดที่ 970.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 72.90 ดอลลาร์ หรือ 4.8% ปิดที่ 1,444.80 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (14 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกต่อวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐและยุโรป
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1% แตะที่ระดับ 104.6299
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9285 ฟรังก์ จากระดับ 0.9132 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3741 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3681 ดอลลาร์แคนาดา
นอกจากนี้ ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.5693 โครนา จากระดับ 10.4665 โครนา แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 133.50 เยน จากระดับ 134.16 เยน
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0587 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0740 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2077 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2172 ดอลลาร์