“ดาวโจนส์” เปิดดิ่งกว่า 200 จุด วิตก ECB ขึ้นดอกเบี้ย 50 ตางค์

“ดาวโจนส์” เปิดดิ่งกว่า 200 จุด วิตก ECB ขึ้นดอกเบี้ย 50 ตางค์ ท่ามกลางวิกฤต เครดิต สวิส ระส่ำกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 200 จุด หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 3% สวนวิกฤต เครดิต สวิส ในการประชุมวันนี้(16 มี.ค.66 ขณะที่บรรยากาศการซื้อขายได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของหุ้นกลุ่มธนาคาร โดย ณ เวลา 20.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,662.83 จุด ลบ 221.74 จุด หรือ 0.7%

สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงนำตลาดวันนี้ ราคาหุ้นของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ ดิ่งลงกว่า 30% โดยถูกกดดันจากการที่รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือ SB ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ หุ้นอื่นๆ ในกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐร่วงลงเช่นกัน ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าการล่มสลายของ SVB และ SB จะส่งผลกระทบลุกลามไปยังธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ

ทั้งนี้ FRB เป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลสหรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจาก SVB และ SB โดย FRB มีเงินฝากทั้งหมด 1.76 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 นอกจากนี้ ราคาหุ้น FRB ทรุดตัวลงเกือบ 75% นับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.

ด้านมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ประกาศปรับลดมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือของระบบธนาคารสหรัฐ จาก “มีเสถียรภาพ” สู่ “เชิงลบ” โดยเตือนว่า แม้ทางการสหรัฐออกมาตรการสกัดวิกฤต SVB และ SB แต่ธนาคารแห่งอื่นๆ ที่มีตัวเลขขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (unrealized losses) หรือผู้ฝากเงินที่ไม่ได้รับการค้ำประกันเงินฝาก จะยังคงเผชิญความเสี่ยงต่อไป

สำหรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันนี้(16 มี.ค.66) แม้ตลาดหุ้นดิ่งลงก่อนหน้านี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในระบบธนาคาร

โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นไปตามที่ ECB ได้ระบุไว้ในการประชุมครั้งที่แล้ว และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.0%

นอกจากนี้ ECB ระบุว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ ECB ได้รับ และ ECB จะจับตาสถานการณ์ในตลาดอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมที่จะใช้มาตรการใดๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงิน

นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ECB จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของ ECB ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 8.5% ในเดือนก.พ.

Back to top button