6 แบงก์ชาติ ตั้ง “สว็อปไลน์” สกุลเงินดอลลาร์ เสริมสภาพคล่องระบบการเงินโลก
6 แบงก์ชาติ ตั้ง "สว็อปไลน์” สกุลเงินดอลลาร์ เสริมสภาพคล่องระบบการเงินโลก และเพื่อลดผลกระทบต่อการจัดหาสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เริ่มใช้ทันทีตั้งแต่ 20 มี.ค.นี้
ธนาคารชาติของประเทศใหญ่ 6 ประเทศในโลก ประกอบด้วย ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ,ธนาคารแห่งญี่ปุ่น ,ธนาคารแห่งแคนาดา ,ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด และ ธนาคารแห่งชาติสวิส และ ได้ประกาศความร่วมมือเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงินโลกด้วยการตั้ง “swap line” ซึ่งจะเริ่มใช้ได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมนี้
โดยความร่วมมือดังกล่าวมีขึ้น เพื่อเป็นการให้การสนับสนุนที่สำคัญในการบรรเทาความตึงเครียดของตลาดการเงินทั่วโลก และเพื่อลดผลกระทบต่อการจัดหาสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
ภายใต้ความร่วมมือนี้ ธนาคารที่ต้องการหาเงินกู้จะสามารถไปยังธนาคารแห่งชาติของตนที่เข้าร่วมในโครงการนี้เพื่อขอเงินกู้ได้โดยตรง ซึ่งลักษณะของการให้การกู้ยืมจะเป็นเช่นเดียวกันในประเทศทั้งหมด โดยธนาคารสามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้นี้ได้ทุกวัน
ข้อตกลงเช่นนี้เคยมีการนำมาใช้แล้วในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 และในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารแห่งชาติอังกฤษระบุว่า จะเปิดดำเนินการไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นเดือนเมษายนนี้
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ธนาคาร UBS เพิ่งจะประกาศแผนการควบรวมกับธนาคารเครดิตสวิส ภายใต้การจัดการของหน่วยงานกำกับดูแลของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความหวั่นวิตกของประชาชนชนและนักลงทุนที่เกรงว่า วิกฤตธนาคารที่เริ่มขึ้นจากการที่ 2 ธนาคารในสหรัฐถูกปิด จะไม่ลุกลามเป็นโดมิโนไปยังประเทศอื่นๆ
ทางด้าน นายไฟซาล อิสลาม บรรณาธิการฝ่ายเศรษฐกิจของสำนักข่าวบีบีซี วิเคราะห์ว่า การประกาศประสานความร่วมมือกันของธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก 6 แห่งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าความวิตกกังวลโดยทั่วไปเกี่ยวกับความเปราะบางของระบบธนาคารทั่วโลกนั้นมีความร้ายแรงเพียงใด และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการล่มสลายของธนาคารยักษ์ใหญ่อย่างเครดิตสวิส ซึ่งกลายเป็นอดีตไปแล้วนั้น เพียงพอที่จะจุดประกายความวิตกกังวลไปทั่วได้อย่างไร
นายอิสลามยังกล่าวอีกว่า ความหวาดกลัวไม่ได้เกี่ยวกับผลกระทบโดยตรงของปัญหาที่เกิดขึ้นที่กับธนาคารเครดิตสวิสหรือธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ แต่เป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินอื่นๆ บางแห่ง อาทิ เงินฝากที่ไม่มีหลักประกันที่จะไหลออกไปสู่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ผ่านระบบออนไลน์โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีใครไปที่ธนาคารเสียด้วยซ้ำ และยังมีอิทธิพลจากความเห็นต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย รวมถึงการตอบสนองที่ไม่แน่นอนจากหน่วยงานกำกับดูแลบางแห่งอีกด้วย
นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า ภาพรวมใหญ่ของปัญหาที่เกิดก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมักจะเป็นระเบิดเวลาของสถาบันการเงินบางแห่ง ประกอบกับความไม่ชัดเจนบางประการของระบบการเงิน