S ชูกลยุทธ์ “S EXCELS” ดันรายได้ปีนี้เฉียด 1.7 หมื่นล้าน โต 34%

S เปิดแผนธุรกิจผ่านแนวคิด “S EXCELS” เติบโตอย่างยั่งยืน ดันรายได้ปีนี้โต 34% แตะ 1.67 หมื่นล้าน ตั้งเป้าเปิดโครงการแนวราบ 5 โครงการกว่าหมื่นล้าน


นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S กล่าวว่า ปี 2565 บริษัทฯ สร้างรายได้ 12,500 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นจากปีก่อนประมาณ 62% โดยมีปัจจัยหลายประการที่ช่วยเกื้อหนุนการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นยอดจองและยอดโอนกรรมสิทธิ์ภายในปี 2565 ของโครงการศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส ซึ่งสูงถึง 77% และ 30% ตามลำดับ นับเป็นความสำเร็จอย่างงดงามที่เกิดขึ้นเพียง 1 ปี หลังปรับโครงสร้างธุรกิจและรุกเข้าสู่การพัฒนาบ้านแนวราบอย่างเต็มตัว ธุรกิจโรงแรมภายใต้การบริหารงานของ SHR สามารถทำรายได้ทะลุเป้าหมายอยู่ที่ 8,700 ล้านบาท ขึ้นแท่นผู้ประกอบการโรงแรมในไทยที่มีรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ด้วยความแข็งแกร่งของกลยุทธ์ผนวกกับแรงหนุนจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยรายวัน (Average Daily Rate: ADR) ปรับเพิ่มขึ้นได้กว่า 28% จากปีก่อนหน้า กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ มีอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy) ที่ไต่ระดับสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในปีก่อนได้กว่า 77 ไร่

“ในปี 2566 เป็นปีที่สำคัญมากของสิงห์ เอสเตท กลยุทธ์ “S EXCELS” คือการสร้างความเป็นเลิศในทุกมิติ มิติแรก คือ ผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ ดันเป้ากำไรสู่ All-time High ในทุกพอร์ตธุรกิจ โดยปีนี้จะสามารถสร้างรายได้รวมของบริษัทให้เติบโตขึ้นสูงถึง 34% หรือมีมูลค่าแตะ 16,700 ล้านบาท มิติที่สองคือ การเพิ่มแต้มต่อธุรกิจ เสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขัน เน้นการสร้าง Synergy ที่เกื้อหนุนกันระหว่าง 4 ธุรกิจ และความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ เพื่อสร้างการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ตลอด 3 ปี มิติที่สามคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และกำหนดแผนอนุรักษ์ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณธุรกิจตั้งอยู่” นางฐิติมา กล่าว

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่พักอาศัย ในปี 2566 นี้ สิงห์ เอสเตท เตรียมต่อยอดความสำเร็จด้วยการเปิดตัวโครงการบ้านแนวราบใหม่ ตอบโจทย์ Lifestyle ที่ทันสมัย บนทำเลศักยภาพ ขยายฐานเจาะตลาดหลากหลายเซกเมนต์ อีก 5 โครงการ ประกอบด้วย บ้านเดี่ยวระดับราคา 15-30 ล้านบาท และระดับราคา 30-50 ล้านบาท Cluster Home ระดับราคาตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป พร้อม Flagship Cluster Home Project ซึ่งมีระดับราคาเริ่มต้นสูงถึง 550 ล้านบาทต่อหลัง ด้วยมูลค่ารวม 5 โครงการกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันเพื่อตอบรับความต้องการในตลาดคอนโดมิเนียมที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่ม Ready-to-move-in ได้อย่างทันท่วงที สิงห์ เอสเตทจึงขยายสัดส่วนการถือครองโครงการ The ESSE Sukhumvit 36 ส่งผลให้สามารถรับรู้รายได้และกำไรจากโครงการดังกล่าวเต็ม 100% โดยบริษัทฯ คาดว่าโครงการที่พักอาศัยในปีนี้ จะมีรายได้ที่เติบโตขึ้นกว่า 70%

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการค้ามีสัญญาณการฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์โมเดลธุรกิจ Right sizing ซึ่งนำเสนอขนาดพื้นที่ให้เช่าที่หลากหลาย ควบคู่กับโมเดลธุรกิจ Ready-to-move หรือการจัดสรรพื้นที่ให้เช่าพร้อมใช้งาน โดยปี 2566 ตั้งเป้าผลประกอบการเพิ่มขึ้น 20% ด้วยอัตราการเช่าพื้นที่สูงกว่า 90% ในทุกโครงการ ทั้งสิงห์ คอมเพล็กซ์  ซันทาวเวอร์ส และ เอส เมโทร รวมถึงโครงการอาคารสำนักงานล่าสุดอย่าง เอส โอเอซิส บนถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ศูนย์กลางธุรกิจที่เปี่ยมศักยภาพแห่งใหม่ พร้อมเซ็นสัญญาผู้เช่ารายใหญ่ในไตรมาส 2 ปีนี้

กลุ่มธุรกิจโรงแรมภายใต้การบริหารงานของ ‘เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท’ หรือ ‘SHR’ จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โดดเด่นอย่างชัดเจนในปีนี้ โดยโรงแรมในเครือที่ประเทศไทยทั้ง 4 แห่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ คาดรายได้เติบโตถึง 60% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่รายได้จากโรงแรมในมัลดีฟส์จะเติบโตขึ้น 30% หนุนรายได้รวมทะลุ 10,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นกว่า 20% ทั้งนี้ ในปี 2566 จะเน้นการเติบโตของอัตราการเข้าพักรวมแตะระดับ All-time High ที่ 75% ขณะที่การหมุนเวียนและต่อยอดการลงทุนสินทรัพย์ (Asset Rotation & Enhancement) รวมถึงการปรับปรุงและยกระดับโรงแรมในเครือ ช่วยเสริมแกร่งผลประกอบการ สนับสนุนให้ SHR สามารถครองตำแหน่งผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีจะมีการเปิดตัว SO/ Maldives โรงแรมไลฟ์สไตล์หรูระดับ 6 ดาว ในโครงการครอสโรดส์ มัลดีฟส์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง SHR และพันธมิตรทางธุรกิจ คาดผลประกอบการจะสร้างกำไรให้กับบริษัทฯ ในระยะยาวได้ในอีกทางหนึ่ง

กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แรงหนุนสำคัญจากทั้งปัจจัยมหภาค โดยบีโอไอคาดระดับการลงทุนจากต่างประเทศคงตัวได้ที่ราว 5-6 แสนล้านบาท ความร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และจุดแข็งของนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง ซึ่งตอบโจทย์ธุรกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ต้องการใช้พลังงานและน้ำจำนวนมาก และธุรกิจที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตเป็นเงื่อนไขเพื่อขยายสู่ตลาดระดับสากล เนื่องจากนิคมตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดศูนย์กลางระหว่างแหล่งวัตถุดิบและเส้นทางการขนส่ง มีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ แหล่งไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ และมีโรงไฟฟ้า 3 แห่งภายใต้ความร่วมมือกับ บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดครบ 400 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าจะผลักดันส่วนแบ่งกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ด้วยแผนการดำเนินงานและกลยุทธ์เพื่อสร้าง All-Time High ในทุกธุรกิจ บริษัทฯ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ในปี 2566 รายได้รวมของ สิงห์ เอสเตท จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 34% หรือมากกว่า 16,700 ล้านบาท ส่งผลต่ออัตรากำไร และผลตอบแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดีบริษัทฯ มีแผนจับมือพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกเครือสิงห์ เอสเตท เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่าง (Product differentiation) โดยธุรกิจที่พักอาศัย มุ่งก้าวเข้าสู่ตลาด Branded Residence ผ่านการร่วมมือกับ SHR ในอีกทางหนึ่ง การผนึกความร่วมมือยังช่วยให้รุกเร็วและปรับตัวไว (Speed to market) โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงแรมในเครือ SHR ทั้งในประเทศไทยและมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน รวมพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ราว 3 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี โครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยสร้างผลงานที่น่าเชื่อถือให้ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ธุรกิจโรงแรมก็สามารถบริหารต้นทุนทางพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนขยายการใช้พลังงานสะอาดไปยังโครงการที่มีศักยภาพอื่นๆ ของบริษัทฯ ในระยะข้างหน้าอีกด้วย

นอกจากนี้ เพื่อสร้างแต้มต่อในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Flex space บริษัทฯ มีแผนร่วมมือกับผู้ประกอบการชั้นนำซึ่งมีสาขาครอบคลุมศูนย์กลางทางธุรกิจที่สำคัญๆ และมีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัทฯ จะเริ่มพัฒนาโครงการ Flex Space ในอาคารสำนักงานของบริษัทฯ เป็นลำดับแรก ขณะที่กลยุทธ์สร้างการเติบโตแบบ Speed to Market ของธุรกิจโรงแรมคือ Asset Light Model ซึ่งจะตอบโจทย์การบริหารเงินลงทุนอย่างคุ้มค่าและมีจุดเด่นด้านความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการสูง โดยความแตกต่างที่สร้างให้ SHR โดดเด่นจากเครือโรงแรมอื่น คือการรับบริหารจัดการโรงแรมอื่นๆโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะแบรนด์ ทราย (SAii) ซึ่งเป็น Homegrown brand ผ่านสัญญาบริหารจัดการโรงแรม (Hotel Management Agreement) แต่รวมถึงการรับบริหารจัดการโรงแรมภายใต้แบรนด์โรงแรมอื่น (Third Party Operator) อีกด้วย

สำหรับการผนึกความแข็งแกร่งของธุรกิจในเครือ สิงห์ เอสเตท ผสานความร่วมมือจากพันธมิตรชั้นนำ จะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญในการสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจ เสริมศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มความเร็วในการตอบสนอง ส่งผลให้ สิงห์ เอสเตท สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ตลอดระยะเวลา 3 ปีข้างหน้านี้

ทั้งนี้สิงห์ เอสเตท ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีพ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030) และสร้างความหลากหลายที่สมดุลเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ โดยบริษัทตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 5% ต่อปี และการเพิ่มเทคโนโลยีนำพลังงานสะอาดมาใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการรักษาพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง อาทิ โรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือโครงการครอสโรดส์ มัลดีฟส์ เป็นต้น

“สิงห์ เอสเตท จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปภายใต้วิสัยทัศน์ในการการสร้างความหลากหลายที่สมดุล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Diversity โดยเราจะไม่หยุดแสวงหาโอกาสในการขยายรูปแบบการลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลายอย่างมืออาชีพ ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า โรงแรม นิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพเหนือระดับเพื่อส่งมอบประสบการณ์ทรงคุณค่าให้ลูกค้า พร้อมยึดมั่นการดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญาการกำกับดูแลกิจการที่ดี สร้างความสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตลอดทั้งชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน” นางฐิติมา กล่าว

Back to top button