นักกฎหมายสวิตฯ ทวงสิทธิแทน “ผู้ถือตราสาร AT1” ควรได้เงินชดเชย
นักกฎหมายสวิตเซอร์แลนด์ ทวงสิทธิแทน ผู้ถือตราสาร AT1 ของ"เครดิต สวิส" ควรได้เงินชดเชย หลังยูบีเอสเข้าซื้อกิจการ
บริษัทกฎหมาย Quinn Emanuel Urquhart & Sullivan เปิดเผยว่า ทีมนักกฎหมายจากสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ และสหราชอาณาจักร กำลังเจรจากับผู้ถือตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนสำรองส่วนเพิ่มชั้นที่ 1 (Additional Tier 1 หรือ AT1) ของเครดิต สวิส เพื่อพิจารณาด้านคดีความให้แก่ผู้ถือตราสารที่ได้รับผลกระทบทางเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากมีแนวโน้มว่าผู้ถือตราสารนั้นจะไม่ได้รับสิทธิในการเรียกร้องเงินชดเชยในข้อตกลงที่ยูบีเอส (UBS) เข้าซื้อกิจการของเครดิต สวิส
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิส จะไม่มีสิทธิในการรับเงินชดเชย แต่ผู้ถือหุ้นสามัญกลับได้รับเงินชดเชย 3.23 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าผู้ถือหุ้นสามัญมักจะมีอันดับเป็นรองผู้ถือตราสารหนี้ในการได้รับเงินชดเชยในกรณีที่ธนาคารล้มละลาย
ทั้งนี้ กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดที่จะต้องยึดตามโครงสร้างลำดับชั้นเกี่ยวกับเงินทุนในกรณีที่มีการปรับโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิสไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้
ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ราคาตราสาร Additional Tier 1 (AT1) ที่ออกโดยธนาคารต่าง ๆ ทั่วโลกปรับตัวลดลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต้องออกมาย้ำถึงความแข็งแกร่งของ AT1 รวมถึงนักวิเคราะห์ และธนาคารพาณิชย์ในไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ตราสาร Additional Tier 1 สกุลดอลลาร์ที่มีความเสี่ยงสูงที่ออกขายโดยธนาคารต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกฟื้นตัวกลับมาได้ตั้งแต่ในช่วงเช้าวันนี้ (21 มีนาคม)
ทางด้าน บล.กสิกรไทยระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวของเครดิต สวิส มีผลจำกัดต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจาก 1. ธนาคารไทยมีเงินกองทุนสำรองชั้นที่ 1 (Core Tier I) ที่สูงอยู่แล้ว, 2.ธนาคารไทยส่วนมี AT1 เพียง 3% ของเงินกองทุน และ 3.แม้ราคา AT1 ในตลาดของธนาคารจะปรับตัวลดลง แต่ไม่ต้อง mark to market เพราะธนาคารเป็นผู้ออกตราสาร มิใช่ผู้ถือตราสารดังกล่าว