สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 มี.ค. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 มี.ค. 2566


ดัชนีและภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 มี.ค. 2566

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) หลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อปกป้องเงินฝากธนาคารของชาวอเมริกัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,105.25 จุด เพิ่มขึ้น 75.14 จุด หรือ +0.23%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,948.72 จุด เพิ่มขึ้น 11.75 จุด หรือ +0.30% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,787.40 จุด เพิ่มขึ้น 117.44  จุด หรือ +1.01%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) โดยหุ้นกลุ่มธนาคารถ่วงตลาดลง หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตธนาคารที่อาจจะลุกลาม

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 446.22 จุด ลดลง 0.94 จุด หรือ -0.21%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,139.25 จุด เพิ่มขึ้น 8.13 จุด หรือ +0.11%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,210.39 จุด ลดลง 5.80 จุด หรือ -0.04% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,499.60 จุด ลดลง 67.24 จุด หรือ -0.89%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) โดยถูกกดดันจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,499.60 จุด ลดลง 67.24 จุด หรือ -0.89%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) หลังจากนางเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐระบว่า การเติมเต็มคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ (SPR) อาจต้องใช้เวลานานหลายปี

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 94 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 69.96 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 78 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 75.91 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 46.30 ดอลลาร์ หรือ 2.37% ปิดที่ 1,995.90 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2565

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 47 เซนต์ หรือ 2.06% ปิดที่ 23.256 ดอลลาร์/ออนซ

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 5.90 ดอลลาร์ หรือ 0.60% ปิดที่ 992.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 12.90 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 1,432.80 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) โดยดอลลาร์ฟื้นตัวในช่วงท้ายตลาด หลังจากที่อ่อนค่าลงในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.15% แตะที่ระดับ 102.5224

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3701 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3697 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3146 โครนา จากระดับ 10.2670 โครนา

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 131.00 เยน จากระดับ 131.45 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9156 ฟรังก์ จากระดับ 0.9173 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0845 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0879 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2282 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2302 ดอลลาร์

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียปิดทำการวานนี้ (23 มี.ค.) เนื่องในวันปีใหม่ของฮินดู (Hindu Saka New Year)

Back to top button