“ทอง” ปิดลบ 12.10 เหรียญ ตลาดคลายวิตกวิกฤตแบงก์-ดอลล์แข็งถ่วงราคา

“ทอง” ปิดลบ 12.10 เหรียญ เหตุคลายวิตกวิกฤตธนาคารลุกลาม “ดอยซ์แบงก์”-ดอลล์แข็งถ่วงราคา โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 12.10 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,983.80 ดอลลาร์/ออนซ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (24 มี.ค.) หลังจากไม่สามารถยืนเหนือระดับสำคัญที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ และการแข็งค่าของดอลลาร์ถ่วงราคาทองคำลงด้วย แต่สัญญาทองคำก็ยังคงปิดบวกเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตในภาคธนาคารที่ลุกลามไปยังธนาคารดอยซ์แบงก์ของเยอรมนี

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 12.10 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,983.80 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ปรับตัวขึ้น 0.5% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 8 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 23.339 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 9 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 983.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 18.40 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1,414.40  ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำปรับตัวผันผวน โดยปิดลดลงหลังจากที่ดีดตัวขึ้นในช่วงแรก เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร

ราคาทองปรับตัวลงจากแรงขายในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนักวิเคราะห์กล่าวแสดงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของดอยซ์แบงก์

นายโชลซ์กล่าวในวันศุกร์ว่า ดอยซ์แบงก์ได้ผ่านการปรับโครงสร้างแล้ว และมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย รวมทั้งเป็นธนาคารที่สามารถทำกำไรอย่างมาก นักลงทุนจึงไม่ควรคาดเดาเกี่ยวกับอนาคตของทางธนาคาร

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายรายก็ได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนเช่นกัน โดยระบุว่า ดอยซ์แบงก์จะไม่กลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปจากเครดิต สวิส โดยธนาคารมีกำไรถึง 5 พันล้านยูโร (5.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 159% เมื่อเทียบกับปี 2564 และสามารถทำกำไรถึง 10 ไตรมาสติดต่อกัน

ทั้งนี้ ดอยซ์แบงก์ได้ตกเป็นเป้าสนใจของนักลงทุนทั่วโลกในวันศุกร์ เนื่องจากราคาหุ้นของทางธนาคารดิ่งลงทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐ หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.58% แตะที่ระดับ 103.1123 ในวันศุกร์

ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

Back to top button