สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 เม.ย. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 เม.ย. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (4 เม.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและแรงงานที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,402.38 จุด ลดลง 198.77 จุด หรือ -0.59%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,100.60 จุด ลดลง 23.91 จุด หรือ -0.58% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,126.33 จุด ลดลง 63.13 จุด หรือ -0.52%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันอังคาร (4 เม.ย.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงจากความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนแอในสหรัฐ ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของยูโรโซนลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 457.34 จุด ลดลง 0.38 จุด หรือ -0.08%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,344.96 จุด ลดลง 1.00 จุด หรือ -0.01%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,603.47 จุด เพิ่มขึ้น 22.55 จุด หรือ +0.14% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,634.52 จุด ลดลง 38.48 จุด หรือ -0.50%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันอังคาร (4 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินปอนด์ และการร่วงลงของหุ้นกลุ่มน้ำมัน

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,634.52 จุด ลดลง 38.48 จุด หรือ -0.50%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันอังคาร (4 เม.ย.) หลังจากจีนและสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน และยังได้บดบังปัจจัยบวกจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันอีกกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 29 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 80.71 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1 เซนต์ ปิดที่ 84.94 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันอังคาร (4 เม.ย.) โดยตลาดยังคงได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 37.80 ดอลลาร์ หรือ 1.89% ปิดที่ 2,038.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2565

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.08 ดอลลาร์ หรือ 4.50% ปิดที่ 25.101 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 32.60 ดอลลาร์ หรือ 3.27% ปิดที่ 1,029.00 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 2.30 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,455.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (4 เม.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.5% แตะที่ระดับ 101.5858

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 131.62 เยน จากระดับ 132.37 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9059 ฟรังก์ จากระดับ 0.9131 ฟรังก์

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.2807 โครนา จากระดับ 10.3703 โครนา แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3458 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3418 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0953 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0895 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2497 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2409 ดอลลาร์

ตลาดหุ้นไต้หวันปิดทำการวานนี้ (4 เม.ย.) เนื่องในวันเด็ก

ตลาดหุ้นอินเดียปิดทำการวานนี้ (4 เม.ย.) เนื่องในวันประสูติของมหาวีระ

Back to top button