จับตา GULF-GUNKUL วิ่งคึก! หลังฮุบ 2,500 MW ดันกำไรเพิ่มปีละ 6 พันล้าน
“กัลฟ์-กันกุล” ชนะประมูลขายไฟฟ้าทดแทน 44 โครงการ ร่วม 2,500 MW พร้อมประมูลรอบสองเพิ่มอีก 3,600 เมกะวัตต์ ฟาก BGRIM คว้า 15 โครงการ กว่า 339 MW นักวิเคราะห์ประเมิน GULF-GUNKUL กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นรวมกันปีละ 6,200 ล้านบาท
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบกกพ.สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 โดยมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจำนวน 175 โครงการ (จากผู้ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้นรวม 386 โครงการ) ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ (MW) (จากกำหนดรับซื้อทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์)
โดยแบ่งเป็น 1)พลังงานลมจำนวน 22 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 1,490.20 MW 2)พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) จำนวน 24 โครงการปริมาณเสนอขาย 994.06 MW 3)พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 129 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 2,368 MW
“หลังจากกกพ.ประกาศรายชื่อดังกล่าวแล้ว ทางการไฟฟ้าฯ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 หลังจากนั้นจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ต่อไป โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ที่จะมีการ COD ไม่พร้อมกัน ดังนั้นโครงการที่จะต้อง COD ภายในปี 2567-2568 จะต้องลงนาม PPA ก่อน ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้” นายคมกฤช กล่าว
จากการตรวจสอบเบื้องต้นของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” พบว่า สำหรับ 2 บริษัทที่เป็นตัวเต็งที่ชนะประมูลมากสุด ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จำนวน 27 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 1,623.91 MW และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ชนะประมูล 17 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 832.4 MW ทั้ง 2 ราย รวมกันเป็น 44 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 2,456.31 MW คิดเป็นสัดส่วน 50.62% จากปริมาณเสนอขายที่ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ทั้งหมด 4,852 MW
โดยแบ่งเป็น 1)พลังงานลม GULF จำนวน 9 โครงการ (622 MW) และ GUNKUL จำนวน 2 โครงการ (180 MW) รวมทั้งหมด 802 MW, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน GULF จำนวน 12 โครงการ (700.2 MW) และ GUNKUL จำนวน 3 โครงการ (83.6 MW) รวมทั้งหมด 783.8 MW และพลังงานแสงอาทิตย์ GULF จำนวน 6 โครงการ (301.71 MW) และ GUNKUL 12 โครงการ (568.8 MW) รวมทั้งหมด 870.51 MW
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ ประกอบด้วย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM จำนวน 15 โครงการ (โซลาร์ฟาร์ม-วินด์ฟาร์ม) รวม 339.3 MW, บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE (โซลาร์ฟาร์ม) 5 โครงการ รวม 69.96 MW, บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG 5 โครงการ (โซลาร์ฟาร์ม) รวม 12 MW, บริษัท เสริมสร้าง เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SSP ได้โซลาร์ฟาร์ม รวม 154.5 MW และพลังงานลม รวม 16 MW
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC 2 โครงการ รวม 16 MW, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH รวม 20 MW และบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE 18 โครงการ (โซลาร์ฟาร์ม) รวม 113 MW
ส่วนบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ไม่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ รวมทั้งรายอื่น ๆ ที่ไม่ผ่านรอบแรก คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลพลังงานหมุนเวียนระยะที่สอง ที่กกพ.เตรียมเปิดรับซื้อเพิ่มอีก 3,665.8 MW
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียน ที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อระยะที่สองอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเป็นไปตามความร่วมมือระหว่าง GUNKUL กับกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนร่วมกัน
นายสุวัฒน์ สินสาฎก ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้นกลุ่มพลังงาน มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของผู้ชนะประมูลขายไฟฟ้าพลังงานทดแทน 4,852.26 เมกะวัตต์ ล่าสุด โดยเฉพาะ GULF ที่มีกำลังการผลิตรวมจากการชนะประมูลมากที่สุด โดยประมาณกว่า 2,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานลม แสงอาทิตย์ และแสงอาทิตย์บวกแบตเตอรี่ ประมาณการกำไรสุทธิรวมกันเพิ่มเติม 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ให้กับ GULF เมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จภายใน 5 ปีข้างหน้า
ส่วน GUNKUL มีกำลังผลิตรวมประมาณ 800 MW ประเมิน EIRR ที่ 14% สำหรับแสงอาทิตย์ และ 18% สำหรับลม EIRR ที่สูง สำหรับโครงการโซลาร์นั้นมาจากเบี้ยประกันภัยที่จ่ายไป 0.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับโครงการโซลาร์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณการกำไรสุทธิรวมกัน 1,200 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ SSP มีกำลังการผลิตรวม 170 MW แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ 154 MW และลม 16 MW ประเมิน EIRR ที่ 11% สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ และ 14% สำหรับลม และกำไรสุทธิต่อมิลลิวัตต์อยู่ที่ 2 ล้านบาท สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ และ 3 ล้านบาท สำหรับลม ประมาณการกำไรสุทธิรวมกัน 300 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ที่เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รวมกันกว่า 80 MW จาก 10 โครงการ ประเมิน EIRR ที่ 18-20% และกำไรสุทธิต่อ MW ที่ 20-25 ล้านบาท ประมาณการกำไรสุทธิรวมกัน 1.6 พันล้านบาทต่อปี
นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC เปิดเผยว่า บริษัทในเครือ ETC ได้ชนะการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมจำนวน 10 โครงการ จำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 80 MW
โดยอัตรา FiT 6.08 บาท/หน่วย และให้ FiT อัตราพิเศษเพิ่มอีก 0.70 บาทต่อหน่วย สำหรับโครงการขยะอุตสาหกรรม 8 ปีแรก เป็นระยะเวลา 20 ปี เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมการดำเนินงานทุกด้าน ทั้งความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง ด้านการเงิน และด้านเทคโนโลยี เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยของ BWG ซึ่งเป็นผู้บริหารขยะอุตสาหกรรมอันดับ 1 ของไทย
“การชนะการประมูลครั้งนี้ ทำให้ ETC เพิ่มปริมาณการขายไฟฟ้าขึ้นเป็น 96.5 MW เติบโตเกือบ 500% จากปัจจุบัน ETC มีโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 3 โครงการ และมีสัญญาขายไฟฟ้าจำนวน 16.5 MW และช่วยให้ ETC มีผลประกอบการสูงมากในอนาคตอันใกล้นี้”
ทั้งนี้ มีกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายใน 180 วัน นับจากวันที่ผู้ผ่านการคัดเลือกรับทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2569 และบริษัทคาดว่าจะเป็นผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า (EPC) และบริหารและดูแลซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M) เองทั้งหมด
โดยปัจจุบัน ETC เป็นผู้นำด้านโรงไฟฟ้าขยะแบบครบวงจร คือมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม 3 แห่ง คือที่จังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดพิจิตร รวมกำลังการผลิต 20.4 MW มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 16.5 MW กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะเวลา 20 ปี โดย ETC เป็นบริษัทในกลุ่มเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีโรงงานผลิตขยะอัดก้อนเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม (SRF) จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ ETC มีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง รวมถึงข้อได้เปรียบด้านคุณภาพและต้นทุนเชื้อเพลิง ทั้งนี้บริษัทยังเปิดกว้างให้แก่พันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการซัพพลายขยะอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการเติบโตมากขึ้น