โดมิโนแบงก์ “สหรัฐ-ยุโรป” ล้ม สะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก

ย้อนรอยวิกฤติแบงก์ “สหรัฐ-ยุโรป” ทยอยประกาศปิดตัว หลังประสบปัญหาด้านการเงิน และได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาดหมี ฟากผู้บริหาร “เจพีมอร์แกน” ชี้ปัญหายังคงมีอยู่ ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องอีกหลายปี


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในประเด็นร้อนที่มีการกล่าวถึงกันเป็นวงกว้างคงหนีไม่พ้นวิกฤติด้านการเงินโลก อย่างการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับสตาร์ทอัพ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ธนาคารในสหรัฐอเมริกาทยอยประกาศปิดตัวเพิ่มขึ้น จนกระทั่งลุกลามไปถึงฝั่งยุโรปอย่างธนาคาร Credit Suisse ซึ่งประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก จนถูกบังคับขายทอดตลาดในเวลาต่อมา

โดยจุดเริ่มต้นอาจกล่าวได้ว่าเริ่มจากต้นเมื่อวันที่ 8 มี.ค.66 ธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) ผู้ปล่อยสินเชื่อรายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ประกาศปิดตัวลงเนื่องจากเกิดการขาดทุนอย่างหนักเป็นพันล้านเหรียญ หลังได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหมีของคริปโทเคอร์เรนซี และได้รับผลกระทบจากวิกฤตล้มละลายของเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่

ต่อมาในวันที่ 11 มี.ค.66 หน่วยงานรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินสหรัฐฯ (FDIC) ได้ประกาศปิดตัวธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หลังธนาคารสูญเสียเงิน 1,800 ล้านดอลลาร์จากการขายหลักทรัพย์ในคลังสหรัฐและหลักทรัพย์จำนองที่ธนาคารได้ลงทุนไป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารยังต้องต่อสู้กับเงินฝากของลูกค้าที่หดตัว เนื่องจากฐานลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ก็ขาดสภาพคล่องเช่นเดียวกัน ด้วยปัญหาดังกล่าวธนาคารจึงตัดสินใจรักษาเสถียรภาพไว้ โดยการขายหุ้นสามัญมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์ให้แก่นักลงทุน รวมถึงขายหุ้นบุริมสุทธิ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ และหุ้นสามัญ 500 อีกล้านดอลลาร์ ในการทำธุรกรรมแยกต่างหากให้กับ General Atlantic บริษัทหลักทรัพย์เอกชน แต่ลูกค้าของธนาคารต่างเกิดความวิตกกังวลจึงมีการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร

โดยในวันที่ 12 มี.ค.66 หน่วยงานรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินสหรัฐฯ (FDIC) ได้ประกาศปิดตัวธนาคารอีกหนึ่งธนาคาร คือ ธนาคารซิกเนเจอร์แบงก์ (Signature Bank) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในนิวยอร์กที่เน้นปล่อยกู้ให้แก่บริษัทคริปโตเคอร์เรนซี เช่นเดียวกับธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และ FDIC ออกแถลงการณ์ให้เหตุผลว่า การสั่งปิด ธนาคารซิกเนเจอร์แบงก์ นั้น เพื่อเป็นการปกป้องผู้ฝากเงินและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ ที่ลุกลามจากการล่มสลายของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ และธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์

ขณะที่ต่อมาในวันที่ 15 มี.ค.66 เกิดเหตุการณ์มูลค่าหุ้นของธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) ปรับตัวลดลงถึง 24% ภายในวันเดียว จากความวิตกของนักลงทุนต่อสถานะการเงินบริษัท หลังจากในช่วงที่ผ่านมาเครดิต สวิส เผชิญกับปัญหาด้านเงินทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 300,000 ล้านบาท ประกอบกับธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดประกาศว่าไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นในเครดิตสวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร

ดังนั้นจึงเท่ากับว่าในเวลานี้ ธนาคารเครดิต สวิส ได้กลายเป็นธนาคารที่เสี่ยงล้มละลายทันทีเพราะขาดสภาพคล่อง จนกระทั่งธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ จำเป็นต้องเข้ามาช่วยอัดฉีดเงินเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารเครดิต​ สวิส​ ด้วยการปล่อยกู้เงินให้จำนวน 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารเครดิต สวิส ถือว่าเป็นธนาคารที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มละลายได้ และในท้ายที่สุดคู่แข่งอย่าง ยูบีเอส (UBS) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส ในวงเงิน 3.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.13 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการกอบกู้วิกฤติดังกล่าว จึงเท่ากับขณะนี้ธนาคารใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว และเป็นการปิดฉาก “ธนาคารเครดิต​ สวิส” ธนาคารขนาดใหญ่อายุ 167 ปีลงอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ธนาคารขนาดใหญ่ของโลกทยอยประกาศปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในขณะนั้นตลาดหุ้นทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนอย่างหนักจากความวิตกของนักลงทุนต่อสถานการณ์ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่าปัญหาธนาคารในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีผลกระทบต่อระบบการเงินไทยจำกัด จากธุรกรรมของภาคธนาคารและกองทุนประเภทต่างๆ ที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ไทย เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เข้มงวด โดยบังคับใช้เกณฑ์ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องกับธนาคารทุกแห่ง รวมทั้งในหลายธนาคารพาณิชย์ไทยต่างทยอยออกมาตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติธนาคารในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ขณะที่นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ระบุว่า วิกฤติในภาคธนาคารสหรัฐอเมริกายังคงมีอยู่ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องอีกหลายปี

“เมฆหมอกทะมึนยังคงคุกคามเศรษฐกิจเหมือนเมื่อ 1 ปีก่อน โดยระบบธนาคารเผชิญแรงกดดันระลอกใหม่ หลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และเครดิต สวิสในเดือนที่แล้ว ทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย และแม้เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เหมือนกับปี 2551 แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าวิกฤตการณ์จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ขณะที่ตลาดการเงินตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินจะใช้นโยบายที่รัดกุมมากขึ้น” นายไดมอน ระบุในจดหมายถึงผู้ถือหุ้น

เรียกว่าประเด็นวกฤติธนาคารสหรัฐและยุโรปล่มสลายนั้น สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนไปทั่วโลก โดยจะเห็นได้ว่าภายในระยะเวลาเพียง 5 วัน ธนาคารในสหรัฐอเมริกาประกาศปิดตัวลงไปถึง 3 ธนาคาร จากการประสบปัญหาทางด้านการเงิน รวมถึงธนาคารเครดิต สวิสด้วย ดังนั้นจึงเกิดความวิตกกังวลว่าในอนาคตก็มีโอกาสที่ธนาคารอื่นๆ ที่ขณะนี้อาจจะประสบปัญหาทางการเงินอยู่แต่ยังมีการซุกซ่อนปัญหาไว้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็อาจวนกลับมาให้ได้เห็นกันอีกครั้งก็เป็นได้

Back to top button