ETL ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 128.76 ล้านหุ้น รุกขยายขนส่งเชื่อมโยง “ยุโรป-เอเชีย”

“ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์” หรือ ETL ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เสนอขาย IPO จำนวน 128.76 ล้านหุ้น เดินหน้าระดมทุนขยายธุรกิจขนส่งสินค้า เพื่อเชื่อมโยงประเทศในยุโรปและเอเชียให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น พร้อมตั้ง “เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี่” เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


นางสาวกฤชวรรณ ซื้อเจริญชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETL เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์สัญชาติไทยที่ประกอบธุรกิจหลักได้แก่บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border Transportation Carrier) ครบวงจร และถือเป็นบริษัทย่อยและเป็นบริษัทเดียว ในการดำเนินธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนของกลุ่มบริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร

ทั้งนี้ ETL มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมากกว่า 10 ปี ซึ่งกลุ่มผู้ก่อตั้งและกลุ่มผู้บริหารมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในแถบทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ภายใต้การบูรณาการรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย  เพื่อให้บริการขนส่งข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงมุ่งเน้นต่อการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของผู้ส่งสินค้า โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผนวกกับนวัตกรรมเทคโนโลยี ควบคู่กับให้บริการอย่างมืออาชีพ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับบริการต่างๆ ที่จะส่งมอบให้แก่ลูกค้า

สำหรับเส้นทางการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ เริ่มต้นด้วยให้บริการขนส่งในประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว และพม่า และได้พัฒนาการให้บริการขนส่งเข้าสู่ประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศดังกล่าวเพิ่มเติม เช่น การขนส่งข้ามพรมแดนไปยังสิงคโปร์ผ่านมาเลเซีย การขนส่งไปยังเวียดนามผ่านลาว และการขนส่งไปยังจีนผ่านเวียดนาม ทั้งนี้ ในปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีเส้นทางการขนส่งที่ครอบคลุมเส้นทางระหว่างประเทศต่างๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน

ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง รวมถึงมีแผนที่จะขยายเส้นทางการให้บริการขนส่งไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียและยุโรป ด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบทั้งการขนส่งทางรถ และทางรถไฟ

ทั้งนี้ การให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ (Cross Border Transportation Service) ของกลุ่มบริษัทฯ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การขนส่งสินค้าแบบเต็มตู้ (Full Truck Load: FTL) การให้บริการขนส่งสินค้าแบบเต็มตู้คอนเทนเนอร์ หรือเหมาทั้งตู้คอนเทนเนอร์ โดยสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์จะเป็นของผู้ส่งหรือลูกค้าเพียงรายเดียว ซึ่งบริษัทฯ จะให้บริการแบบ Door to Door โดยบริษัทฯ จะนำรถบรรทุกพร้อมตู้คอนเทนเนอร์ไปรับสินค้าจากโรงงานหรือคลังสินค้าของผู้ส่งสินค้า (Shipper) และส่งไปยัง โรงงาน หรือคลังสินค้าของผู้รับสินค้า (Consignee) และ

2.การขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มตู้ (Less than Truck Load: LTL) การให้บริการขนส่งสินค้าที่สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์จะเป็นของลูกค้ามากกว่า 1 รายแบ่งใช้พื้นที่ร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มีปริมาณขนส่งไม่มากพอที่จะเช่าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ เพื่อบรรจุสินค้าเฉพาะของตนเอง ทั้งนี้ สินค้าจะถูกนำมาส่งยังจุดรวมสินค้า (Hub) ของบริษัทฯ จากนั้นบริษัทฯ มีทำหน้าที่รวบรวมสินค้า คำนวณพื้นที่ในการจัดวางและจัดทำแผนงาน (Consolidation Plan) จากนั้นจึงขนส่งสินค้าไปส่งยังจุดรวมสินค้า (Hub) ปลายทางของบริษัทฯ ตามตารางเวลาการขนส่งที่บริษัทฯ กำหนด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทฯ ได้มีการศึกษาและพัฒนาการให้บริการขนส่งรูปแบบใหม่เพิ่มเติม เพื่อบูรณาการการขนส่งทางถนนเข้ากับการขนส่งทางรางรถไฟ (Road-Rail Transportation) ประเทศจีน-ประเทศลาว โดยได้เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายการให้บริการขนส่งด้วยรางรถไฟที่สามารถเชื่อมต่อจากจีนไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ภายใต้ โครงการ One Belt, One Road (OBOR) ของประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตามแนวเส้นทาง และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากแผน OBOR ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดด้านปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือกันของนานาประเทศ

กรรมการผู้จัดการบริษัท ETL กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “เพื่อเชื่อมโยงประเทศในยุโรปและเอเชียให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นผ่านการขนส่งที่รวดเร็ว คุ้มค่า และหลากหลายรูปแบบ” ด้วยพันธกิจคือการมุ่งหวังสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมและยืดหยุ่น เพื่อความพึงพอใจของลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด จึงมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีส่วนช่วยในการควบคุมและรายงานสถานะการขนส่ง รวมถึงบริษัทฯ มุ่งมั่นในการดําเนินธุรกิจควบคู่กับการมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างสมดุลระหว่างมูลค่าทางธุรกิจและคุณค่าต่อลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเป็นสำคัญ พร้อมทั้งการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนองค์กร สังคม และประเทศไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว และนับจากนี้ ETL พร้อมก้าวไปอีกขั้นด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

ขณะที่ปัจจุบัน ETL มีทุนจดทะเบียนจำนวน 238,448,329 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 476,896,658 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วทั้งสิ้นจำนวน 174,067,280 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 348,134,560 หุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 128,762,098 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 27.00 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต โดยมีบริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

Back to top button