SHR-MINT โรงแรมฝั่งแอฟริกา ส่อโดนผลกระทบ “ไวรัสมาร์บวร์ก” ระบาด

จับตาไวรัส “มาร์บวร์ก” ระบาดในทวีปแอฟริกา “มอริเชียส” สั่งปิดโรงแรมทั่วประเทศ ป้องกันเชื้อกระจายวงกว้าง SHR-MINT มีโอกาสโดนปิดโรงแรมฝั่งแอฟริกาด้วย โบรกชี้กระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า ไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus) กำลังแพร่ระบาดในบางประเทศของทวีปแอฟริกา อาทิ สาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี และแทนเซเนีย ขณะนี้ ซึ่งการแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่งผลให้มอริเชียส ออกประกาศสั่งปิดโรงแรมในประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา ในเบื้องต้นคาดว่ามอริเชียสจะสั่งปิดโรงแรมไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และอาจลากยาวถึง 6 เดือน หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์กจะคลี่คลาย

ดังนั้นจึงมองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยเชิงลบต่อหุ้นในกลุ่มโรงแรม โดยเห็นได้จากวันนี้ (19 เม.ย.66) ราคาหุ้นบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR มีการปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 3.56 บาท ลบไป 0.38 บาท หรือ 9.64 % ด้วยมูลค่าซื้อขาย 232.04 ล้านบาท ซึ่งคาดว่านักลงทุนขายหุ้นออกมา จากความวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์ก เนื่องจาก SHR มีโรงแรมอยู่ในสาธารณรัฐมอริเชียส 1 แห่ง คือ โรงแรมเอาท์ริกเกอร์ มอริเซียส บีช รีสอร์ท (Outrigger Mauritius Beach Resort) ซึ่งในปี 2565 มีสัดส่วนรายได้ราว 4%

ทั้งนี้บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า หากย้อนกลับไปดูในปี 2563-2564 ที่โรงแรมในสาธารณรัฐมอริเชียสถูกปิดจะมีภาระ fixed cost ที่ราว 10 ล้านบาท/เดือน ดังนั้นความเสี่ยงขาลงที่จะเกิดขึ้นสำหรับปี 2566 บนสมุมติฐานหากปิดโรงแรม 3 เดือน จะกระทบกำไรสุทธิ 30 ล้านบาท และหากปิดโรงแรม 6 เดือน จะกระทบกำไรสุทธิ 60 ล้านบาท จากคาดการณ์กำไรปี 2566 ที่ 415 ล้านบาท  หรือราว 7% และ 14% ตามลำดับ แต่ด้านราคาเป้าหมายอาจมีผลไม่มาก เพราะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในไตรมาส 2/2566 ที่เผชิญผลกระทบจากการปิดให้บริการของโรงแรมในสาธารณรัฐมอริเชียส อาจทำให้ผลประกอบการมีโอกาสกลับมาขาดทุนเล็กน้อยหรือเท่าทุนอีกครั้ง เพราะโรงแรมในภูมิภาคอื่นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่นเช่นกัน

ส่วนบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT แม้จะไม่มีโรงแรมในอิเควทอเรียลกินี แต่มีโรงแรม 7 แห่งในแทนเซเนีย และโรงแรม 2 แห่งในมอริเชียส ส่งผลให้มีโรงแรม 9 แห่ง จาก 531 แห่งที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในทวีปแอฟริกา

อย่างไรก็ตามบล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า บนสมมุติฐานที่โรงแรมทั้ง 9 แห่งต้องปิดให้บริการเป็นเวลา 3 เดือน จะกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2566 ของ MINT ที่ 0.3% ซึ่งยังไม่มีนัยสำคัญ และหากปิดตัว 6 เดือน จะกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 0.6%

ส่วนในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากการระบาดของไวรัสมาร์บวร์กกระจายไปทั่วทวีปแอฟริกา MINT อาจจำเป็นต้องปิดโรงแรม 50 แห่งที่มีในทวีปแอฟริกา เป็นเวลา 3 เดือน  ประเมินว่าจะกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2566 ของ MINT ประมาณ 2% แต่อย่างไรก็ตามโรงแรมส่วนใหญ่ของ MINT ในแอฟริกาเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ดังนั้น แม้โรงแรมทั้ง 50 แห่งนี้จะคิดเป็น 9% ของโรงแรมทั้งหมด แต่จำนวนห้องพักคิดเป็นเพียง 4% ตามการประมาณการของบล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)

ขณะที่ 2 โรงแรมในมอริเชียส มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 344 ห้อง และคิดเป็น 0.4% ของห้องพักทั้งหมดของ MINT จึงมองว่าการปิดโรงแรมที่มอริเชียสนั้นไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อ MINT จึงเห็นได้ว่าราคาหุ้นบนกระดานปรับตัวลงเล็กน้อยมาปิดที่ระดับ 31.25 บาท ลบไป 0.25 บาท หรือ 0.79% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 556.37 ล้านบาท

อนึ่ง “ไวรัสมาร์บวร์ก” (Marburg virus) อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ซึ่งการติดเชื้อทำให้เกิดอาการไข้และเลือดออก มีค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์รังโรค ถูกพบในปี พ.ศ. 2510 โดยตั้งชื่อตามเมืองมาร์บวร์กในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรก การติดเชื้อในคนเริ่มแรกเป็นผลมาจากการสัมผัสในเหมืองหรือถ้ำที่มีค้างคาวผลไม้อยู่อาศัยเป็นกลุ่มเป็นระยะเวลานาน เมื่อเชื้อถูกแพร่ไปยังคนแล้ว คนนั้นจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เหมือนกับโรคอีโบลา

ทั้งนี้โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน หลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อหรือสัตว์นำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีผื่นแต่ไม่คัน ต่อมาจะมีเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำหรือเป็นเลือด เลือดออกตามจมูก ปาก และช่องคลอด บางรายมีภาวะตับหรืออวัยวะอื่นๆ ล้มเหลว หรือเกิดภาวะช็อกได้ ผู้ป่วยหลายรายมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรงภายใน 7 วัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในช่วง 8-9 วันหลังจากมีอาการวันแรก โดยมีรายงานอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 24-90 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาจำเพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการร่วมกับให้สารน้ำหรือเลือดทดแทน

Back to top button