ACE-EA ลุ้นเก็บตกขายไฟรอบ 2 กกพ. จ่อรับซื้อมิ.ย.-ส.ค.นี้
ACE ควง EA และ DEMCO รอเก็บตกขายไฟฟ้าหมุนเวียนรอบสอง กกพ.เตรียมเปิดช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้ จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ นักวิเคราะห์มองรายเดิมกลุ่มตกรอบแรกมีโอกาสสูง ส่วนรายใหญ่รับไปเกือบเต็มพิกัดแล้ว
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง รอบที่สอง จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ขณะนี้ทางกกพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในครั้งนี้ แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 2,632 เมกะวัตต์, พลังงานลม จำนวน 1,000 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.5 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ภายหลังพิจารณารายละเอียดระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งลงนามดำเนินการพลังงานหมุนเวียนรอบแรกให้แล้วเสร็จหลังจากบอร์ดกกพ. เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 175 ราย ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ จากผู้ที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้นรวม 670 โครงการ กว่า 1.7 หมื่นเมกะวัตต์ โดยการไฟฟ้าฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้นคาดว่าการเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบสอง อาจจะสามารถเปิดในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้
โดยก่อนหน้านี้ กพช.เห็นชอบส่งเสริมพลังงานทดแทน รับซื้อเพิ่มเติมตามแผน PDP2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) ปี 2564-2573 จากเดิม 10,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 12,700 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งลดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ในขณะนี้พบว่าต้นทุนพลังงานหมุนเวียนถูกลง ขณะนี้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาสูงกว่า และเป็นการลดปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นผลทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามกำลังสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งการลดแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว ตามแผนงานเดิมที่มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะรับซื้อ 15,000 เมกะวัตต์ ลดลง 700 เมกะวัตต์ เนื่องจากในปี 2571 ยังไม่มีโครงการใดสามารถที่จะเข้าระบบได้ตามเป้าหมาย
สำหรับกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอไต่สวนการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเอกชน จำนวน 175 ราย รวม 4,852.26 เมกะวัตต์ โดยอ้างถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่มากถึง 60% นั้น ทางกกพ.ยังต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ว่าจะพิจารณาออกมาอย่างไร
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบที่สอง จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ หลังจากกกพ.ประกาศรอบแรกแล้ว จำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์นั้น โดยจะเปิดสำหรับโครงการที่ไม่ผ่านมารอบแรก สามารถยื่นเข้ามาอีกครั้ง แต่ก็มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าห้ามย้ายที่ตั้งของโรงไฟฟ้า คาดว่าจะเปิดรับซื้อรอบสอง ภายหลังจากโครงการพลังงานหมุนเวียนรอบแรก ทยอยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในช่วงเดือน มิ.ย. 2566
ด้านนายสุวัฒน์ สินสาฎก ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน กล่าวว่า หากกกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง อีกจำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ คาดว่าผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก มีโอกาสคว้าโครงการรอบสองมากกว่ารายใหม่ โดยเฉพาะบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA, บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE และกลุ่มบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ที่ถือหุ้นในบริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO ที่สัดส่วนประมาณ 4% เนื่องจากรอบแรกยื่นไปหลายโครงการ แต่ผ่านการคัดเลือกน้อย ดังนั้นในรอบสองคาดว่าจะมีโอกาสที่โครงการเดิม จะผ่านการคัดเลือกค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับรายใหญ่ อาทิ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ที่โครงการผ่านการคัดเลือกไปค่อนข้างมากพอสมควรแล้ว
ส่วนกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอไต่สวนการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรกนั้น ส่วนตัวคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงนามสัญญา PPA ของโครงการฯ เนื่องจากโครงการมีระยะเวลากำหนดชัดเจน โดยจะทยอยขายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในปี 2568-2573 ไม่ใช่ทยอยเข้าภายใน 1 ปี ขณะเดียวกันในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า จะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทยอยปลดออกจากระบบ รวมประมาณ 2,000-3,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น จะส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้ว่าในปีนี้จะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าจำนวนมาก แต่ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า ก็จำเป็นต้องมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอไต่สวนฉุกเฉิน ในคดีหมายเลขดำที่ 1961/2565 เนื่องจากมีกรณีฉุกเฉินเนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดให้กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนจำนวน 175 ราย ที่มีปริมาณเสนอขายรวม 4,852.26 เมกะวัตต์ จากที่กกพ.ประกาศเปิดรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ ในวันที่ 19 เม.ย. 2566
ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตมากถึง 51,048 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศปี 2565 มีเพียง 30,135 เมกะวัตต์ เท่านั้น ทำให้มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ หรือมากเกือบ 60% แต่กกพ.กลับมีมติให้ดำเนินการจัดซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเพิ่ม ในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม จะทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นประเทศมากถึง 53,659 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังไฟฟ้าสำรองมากกว่า 62% ซึ่งมาตรฐานสากลกำหนดไว้เพียงประมาณ 15-20% เท่านั้น
ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงจำต้องมาร้องขอให้ศาลฯ ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการลงนามซื้อไฟฟ้าดังกล่าว