“สแตนชาร์ด” หั่นเป้า GDP ไทยเหลือ 4.3% เซ่นส่งออกชะลอ-เศรษฐกิจโลกผันผวน
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ เผยปรับลดประมาณการ GDP ของไทยปี 66 เหลือ 4.3% จากเดิมที่คาดว่าเติบโต 4.5% ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สดใส และมีความผันผวน รวมถึงปัจจัยในประเทศเรื่องความล่าช้ายังรอการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ปรับลดประมาณการ GDP ของไทยปี 66 ลงเหลือ 4.3% จากเดิมที่คาดว่าเติบโต 4.5% สะท้อนตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาต่ำกว่าคาด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความสดใส และมีความผันผวน รวมถึงปัจจัยในประเทศเรื่องความล่าช้าในการดำเนินโยบายทางเศรษฐกิจเนื่องจากยังรอการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้มองว่า GDP ไทยในครึ่งปีแรกจะเติบโตได้ที่ 2.9%
อย่างไรก็ตามมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเห็นการเติบโตขึ้นในครึ่งปีหลัง 2566 มากกว่าครึ่งปีแรก แต่ยอมรับว่าหากมองไปที่ปัจจัยภายนอกยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ปัจจัยภายนอกสร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อภาคการส่งออกที่อาจจะยังชะลอตัวได้ ซึ่งทำให้ธนาคารเฝ้าระวังในส่วนของดุลบัญชีการค้าที่มีโอกาสขาดดุลได้ เพราะการส่งออกเกิดการชะลอตัว แต่การนำเข้ายังคงมีมูลค่าที่สูงกว่า ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้อย่างแข็งแกร่ง การส่งออกและการนำเข้าจะต้องสอดคล้องกัน เพื่อช่วยลดการขาดดุลการค้า
ขณะเดียวกันเมื่อมองกลับมาที่ปัจจัยในประเทศยังคงมีแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวที่ยังเห็นทิศทางการปรับตัวดีขึ้น โดยที่ได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 66 เพิ่มเป็น 25 ล้านคน จากเดิมที่ 15-20 ล้านคน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเติมในช่วงครึ่งปีหลังราว 5 ล้านคน และคาดว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาหนาแน่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/66 เป็นต้นไป
ส่วนปัจจัยทางการเมืองหลังเลือกตั้งเสร็จสิ้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 เดือนในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะพร้อมทำงานอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ค. 66 และคาดว่าจะเห็นการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้
ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาที่ 2% ต่อปี ในการประชุมวันที่ 31 พ.ค. 66 จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 1.75% ต่อปี แม้ว่าอาจจะมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนของปัจจัยภายนอกที่กระทบเศรษฐกิจโลก แต่ดัชนีเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมองเศรษฐกิจไทยในเชิงบวก อีกทั้งน่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติเพื่อเพิ่มพื้นที่นโยบายการเงิน