ไทยเนื้อหอม “ต่างชาติ” แห่ลงทุน Q1 ทะลัก 3.3 หมื่นล้าน

กระทรวงพาณิชย์ เผยต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยไตรมาสแรกกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 1,932 คน โดยเฉพาะญี่ปุ่นติดครองแชมป์ ตามด้วยสิงค์โปร์ติดอันดับ 2 และสหรัฐอเมริการอันดับ 3


นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า เดือนมี.ค.66 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 61 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 19 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 42 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,292 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 281 คน

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 174 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28 ราย หรือเพิ่มขึ้น 19% แยกเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 56 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 118 ราย

โดยเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 33,048 ล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 1,932 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. ญี่ปุ่น 46 ราย (26%) เงินลงทุน 12,172 ล้านบาท, 2. สิงคโปร์ 30 ราย (17%) เงินลงทุน 4,507 ล้านบาท, 3. สหรัฐอเมริกา 25 ราย (14%) เงินลงทุน 1,687 ล้านบาท, 4. จีน 10 ราย (6%) เงินลงทุน 10,987 ล้านบาท และ 5. สมาพันธรัฐสวิส 9 ราย (5%) เงินลงทุน 1,677 ล้านบาท

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะ, องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า, องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Protocol Television : IPTV), องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การสร้างแบบจำลองแบบ 3 มิติ และการทำงานของแดมเปอร์เฉพาะทางบนคอมพิวเตอร์, องค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะการออกแบบแม่พิมพ์โลหะ (Die Cast) สำหรับชุดจ่ายน้ำมันและโช้คอัพรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

นายทศพล กล่าวว่า ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ

บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

บริการออกแบบ จัดซื้อ, จัดหา, ติดตั้ง, ปรับปรุง, พัฒนา, ทดลองระบบ, เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า

บริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก

บริการทางวิศวกรรมด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจวิศวกรรมยานยนต์

บริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัลซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการแพลตฟอร์มกลาง

บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วงไตรมาสแรก 66 (ม.ค.-มี.ค.) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 31 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 3,264 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 13 ราย ลงทุน 1,826 ล้านบาท จีน 5 ราย ลงทุน 529 ล้านบาท ไต้หวัน 3 ราย ลงทุน 37 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 10 ราย ลงทุน 872 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการทางวิศวกรรมด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจวิศวกรรมยานยนต์ 2) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบ และทดลองการใช้งานเครื่องอัดอากาศ และดำเนินการวิเคราะห์ทางวิศวกรรม เป็นต้น 3) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก 4) บริการรับจ้างผลิตถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติก พาเลทพลาสติก ฟิล์มพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ และ 5) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

บริการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพและปริมาณของสินค้าประเภทวัสดุและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับ

กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยให้ใช้ระบบจัดจำหน่ายสินค้าประเภทอะไหล่ ชิ้นส่วน และวัสดุจำเป็นในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ผ่านเว็บไซต์

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม บริการออกแบบทางวิศวกรรม เป็นต้น

การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ชิ้นส่วนโลหะ และยานยนต์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ

Back to top button