KBANK ตั้งสำรอง Q1 เพิ่มกันเบี้ยวหนี้ โบรกชี้ “credit cost” สูงเสี่ยงกระทบกำไร
KBANK ตั้งสำรอง ECL เพิ่มขึ้นไตรมาส 1/66 เพิ่มกันผิดนัดชำระหนี้ โบรกชี้ credit cost ในปีนี้อาจปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 1.75-2% จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ้างอิงข้อมูลจาก บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK หลังจากมีการประชุมนักวิเคราะห์วันนี้ (21 เม.ย.66) โดยมีการตั้งคำถามพุ่งเป้าไปยังการปล่อยกู้ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง
โดยตามข้อมูลผลประกอบการของ KBANK ในงบการเงินไตรมาส 1/2566 ออกมาพบว่ามีการตั้งสำรอง ECL เผื่อไว้ 6% ประมาณ 700 ล้านบาท จากทั้งหมดสำหรับบัญชีของบริษัทที่ไม่เปิดเผยชื่อ โดยส่วนที่เหลือ KBANK จะเป็นผู้สนับสนุนผ่านการจัดสรรสำรองส่วนเกินที่มีสะสมไว้ในกระเป๋ามาใช้กับลูกหนี้รายนั้นๆ (Management Overlay)
ทั้งนี้ KBANK คาดว่าจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/2566 รวมถึง Management Overlay ที่จะครอบคลุมราว 90% ของเงินกู้ทั้งหมดของบริษัทดังกล่าวจาก Management Overlay ที่ลดลง จะส่งผลให้ต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย (Credit Cost) ในปีนี้อาจปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 1.75-2% และอาจจะปรับตัวสูงขึ้นถึง 2.10%
โดยทางฝ่ายนักวิเคราะห์คาดว่า Credit Cost ของ KBANK ในปีนี้จะอยู่ที่ 1.91% และการเพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จะส่งผลลบต่อกำไรสุทธิราว 6.2% นอกเหนือจากตัดหนี้มูลค่า 1 พันล้านบาทแล้ว ยังมีการขายหนี้เสีย 3.6 หมื่นล้านให้กับ JK AMC โดย KBANK มีมุมมองเชิงบวกทั้งด้านประสิทธิภาพ และการฟื้นตัวของธุรกิจ JK AMC เมื่อเทียบกับการดำเนินงานหลัก
อย่างไรก็ตาม KBANK คาดว่ายอดขายหนี้เสียให้ JK AMC ในปีนี้จะอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้าน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อนหน้า แต่ ยังคงเชื่อว่ายอดขายจะสูงกว่าเป้าหมายดังกล่าวซึ่งยอดขายในไตรมาส 1/2566 ก็มากกว่า 50% ของเป้าหมายไปแล้ว
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อลอยตัวที่สูง และหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หลังการขาย NPL ในขณะเดียวกัน CASA (current and saving account to total deposit) ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อ NIM ทุกๆ การขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะส่งผลให้ NIM มีอัพไซด์เพิ่มขึ้นราว 5-8% โดยยังคงให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 168 บาท