KBANK ยันเป้า “สินเชื่อ” ปีนี้โต 7% จ่อขายหนี้ให้ JK AMC เพิ่ม
KBANK มั่นใจไตรมาส 2 เติบโตต่อ คงเป้าสินเชื่อปีนี้ขยายตัว 5-7% ไตรมาสแรกตัดขายหนี้เสียไปแล้ว 3.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ขายให้กับ JK AMC โบรกฯต่างมองเชิงบวกคาดไตรมาส 2 กำไรยังสวย ทั้งปีจะแตะ 3.9 หมื่นล้านบาท
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/2566 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปีนี้ รวมถึงทิศทางผลประกอบการทั้งปี 2566 โดยเฉพาะสินเชื่อรวมปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 5-7%
“เพื่อให้ผลกำไรและสินเชื่อเติบโตได้ตามแผน ธนาคารจึงมีการปรับพอร์ตสินเชื่อให้เกิดความสมดุลและสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โดยปรับพอร์ตสินเชื่อใหม่ ซึ่งในปีนี้จะหันไปเน้นสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อยมากขึ้น และลดสัดส่วนสินเชื่อของกลุ่มเอสเอ็มอีลง” นางสาวขัตติยา กล่าว
นางสาวขัตติยา กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องมาโฟกัสสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อย เพื่อต้องการหนุนผลกำไรกับธนาคารให้มากขึ้น ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง และยังเป็น “กลุ่มเปราะบาง” ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องลดสัดส่วนลง
ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อในระยะ 3 ปีจากนี้ (2566-2568) ธนาคารตั้งเป้าหมายปรับสัดส่วนสินเชื่อให้มีความสมดุล เฉลี่ยต่อกลุ่มอยู่ที่ 30% ทั้งกลุ่มรายใหญ่ รายย่อย และเอสเอ็มอี
ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (ค่าฟี) ในระยะ 3 ปีนับจากนี้ จะกลับมาเติบโตอย่างมีนัยยสำคัญ หลังจากที่รายได้ค่าฟีลดลงในช่วงปี 2565 ถึง 6.9% และไตรมาส 1/2566 ลดลง 8.1% ส่วนทั้งปี คาดว่ารายได้ค่าฟีกลับมาเติบโตที่ทรงตัว โดยการกลับมาของรายได้ค่าฟีนั้น จะมาจากการเติบโตของการขายกองทุน ธุรกิจประกัน และ Wealth Management หรือการบริหารความมั่งคั่ง
“เศรษฐกิจกิจปีนี้จะกลับมาเติบโตดีไม่ว่าจะได้รัฐบาลชุดไหน สิ่งสำคัญหลังการเลือกตั้งรัฐบาลต้องจัดตั้งให้รวดเร็ว อย่าใช้เวลานาน เศรษฐกิจก็จะเติบโตต่อเนื่อง และหนุนสินเชื่อในระบบให้เติบโตต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนปีนี้กลุ่มที่เติบโตดียังเป็นกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร รายย่อย และเฮลท์แคร์” นางสาวขัตติยา กล่าว
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าหมายให้ต่ำกว่า 3.25% ขณะที่ NPL ช่วงไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ระดับ 3.04%
ทั้งนี้ ธนาคารมีหลายวิธีในการบริหารจัดการหนี้ ทั้งการตัดขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) รวมถึงบริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) บริษัทร่วมทุนของธนาคาร และการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ (Write off) ซึ่งเป็นแผนเดียวกับปีที่ผ่านมา ที่มีการตัดขายหนี้ให้ AMC รวมทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท ส่วน Write off รวม 5.9 หมื่นล้านบาท
“ในไตรมาส 1/2566 ได้ขายหนี้เสียออกไปแล้ว 3.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ขายออกไปให้กับ JK AMC” นางสาวขัตติยา กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการหาพันธมิตรให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (KAsset) ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่สามารถระบุระยะเวลา แต่ธนาคารจะพยายามเลือกพันธมิตรที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจกองทุน ผู้ถือหุ้น และผู้ถือหน่วย
ด้านนายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ KBANK เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคาร มีมติจัดตั้ง “บริษัท เงินให้ใจ จำกัด” โดยมี บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด ถือหุ้น 100% โดยบริษัท เงินให้ใจ ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 และจดทะเบียนแล้วเสร็จวันที่ 24 เมษายน 2566
สำหรับทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อรถที่เป็นหลักประกัน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า คาดกำไรในไตรมาส 2/2566 ของ KBANK จะทรงตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 1/2566 คิดเป็น 27% จากประมาณการทั้งปี แต่ยังอยู่ในกรอบทั้งปีที่ประเมินไว้ ทำให้ยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากฐานต่ำในปีก่อน ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 175 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เผยว่า ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KBANK ให้ราคาเป้าหมาย 160 บาท โดยคาดว่า Net Interest Margin หรือ NIM จะขยายตัวได้ดีในไตรมาส 2/2566 ส่วนเอ็นพีแอลที่ทรงตัว ให้คาดว่า KBANK จะมีการลดการตั้งสำรองลง โดยในไตรมาสแรก KBANK ได้ลดการตั้งสำรองช่วงไตรมาส 1/2566 ลงเป็น 1.27 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 2.28 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 1/2565