กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าของประเทศ จริงหรือ?

"สนพ.-กกพ." เปิดข้อมูลราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยของประเทศไทย พบราคาต่อหน่วยสูงขึ้นตามราคา "ก๊าซ" ที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาก๊าซเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปัญหาการเปลี่ยนผ่านสัมปทานของกลุ่มเชฟรอน และ ปตท.สผ. รวมถึงปัญหาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน


สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับราคาค่าไฟต่อหน่วยของประเทศไทย ซึ่งเผยให้เห็นว่าราคาค่าไฟต่อหน่วยของประเทศไทยนั้นขยับสูงขึ้นตามราคาก๊าซฯที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะที่อัตราไฟฟ้าสำรองไม่มีผลต่อการขึ้นราคาค่าไฟ ตามรายละเอียดในตารางด้านล่าง

ส่วนสาเหตุที่ราคาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนผ่านระหว่างกลุ่ม เชฟรอน ผู้รับสัมปทานรายเก่า กับ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานรายใหม่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยไม่ต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น จากเดิมผลิตได้ 76% ลดลงเหลือเพียง 59% ส่วนก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) ก็มีปริมาณเพียงแค่ 16% เท่านั้น ทำให้ไทยต้องนำเข้า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) จากต่างประเทศเข้ามาเสริม

อีกทั้ง สาเหตุที่ราคา LNG เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่งผลให้ราคา LNG จากที่เฉลี่ยเคยต่ำกว่า 350 บาท/ล้านบีทียู พุ่งสูงไปที่ประมาณ 450 บาท/ล้านบีทียู (ข้อมูล ณ เดือน เม.ย.2566) ซึ่งการนำเข้า LNG ในราคาที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยปรับสูงตามไปด้วย

ขณะเดียวอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 36% (ข้อมูล ณ เดือน เม.ย.2566) ซึ่งในอดีตเคยประสบกับปัญหา “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ต่ำเกินไปจนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ฉะนั้นการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ในปริมาณที่เหมาะสม ย่อมทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมยามฉุกเฉินได้ทันที โดยไม่กระทบสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

Back to top button