DFPI สั่งปิด “เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์” อีกราย! “เจพีมอร์แกน” จ่อฮุบทันที
สหรัฐฯ ประกาศปิด “เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์” อีกราย ลงทุนผิดพลาดและลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคารจนเกิดความเสียหาย “บลูมเบิร์ก” รายงาน “เจพีมอร์แกน” เตรียมเข้าซื้อกิจการ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะเข้าควบคุมธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) และจะให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อกิจการ FRB หลังจากที่ FRB ลงทุนผิดพลาดและลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคารจนเกิดความเสียหายต่อภาคธนาคารในระดับภูมิภาค
กรมคุ้มครองการเงินและนวัตกรรมแห่งแคลิฟอร์เนีย (DFPI) ออกแถลงการณ์ว่าเจพีมอร์แกนจะ “รับเอาเงินฝากทั้งหมด รวมถึงเงินฝากที่ไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด ตลอดจนสินทรัพย์ที่สำคัญทั้งหมด” ของ FRB
ทั้งนี้ DFPI ได้เลือกให้บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ FRB “เงินฝากจะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาลกลางผ่าน FDIC ตามวงเงินที่กำหนด”
โดยการเข้าซื้อ FRB ครั้งนี้จะทำให้เจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งที่ตามปกติแล้ว ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของสหรัฐจะบังคับขนาดและสัดส่วนฐานเงินฝากของเจพีมอร์แกนไม่ให้ใหญ่ไปกว่านี้ นอกจากนี้ ยังขัดแย้งกับท่าทีก่อนหน้านี้ของผู้แทนจากพรรคเดโมแครตคนสำคัญและฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ได้แสดงความกังวลต่อการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมการเงินและภาคส่วนอื่น ๆ
นอกจากนี้ ทางเจพีมอร์แกนเองก็มีบทบาทสำคัญในปัญหาของ FRB มาโดยตลอด โดยเจพีมอร์แกนเป็นฝ่ายให้คำแนะนำแก่ FRB ที่พยายามมองหาวิธีแก้ไขวิกฤต และนายเจมี ไดมอน ซีอีโอของเจพีมอร์แกน ก็เป็นกุญแจสำคัญในการโน้มน้าวใจผู้บริหารธนาคารต่าง ๆ ให้อัดฉีดเงินฝาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์แก่ FRB เพื่อเสริมแกร่งทางการเงิน หลังลูกค้า FRB จำนวนมากแห่ถอนเงินออกในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นการให้บริการไพรเวทแบงกิ้งแก่ผู้ที่มีฐานะร่ำรวย ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 โดยนายจิม เฮอร์เบิร์ต ประธานบริษัท ด้วยพนักงานไม่ถึง 10 คน ต่อมาในเดือนก.ค. 2563 FRB ได้รับการจัดอันดับให้เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 14 ในสหรัฐ โดยมีสำนักงาน 80 แห่งใน 7 รัฐ และเมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการจ้างงานมากกว่า 7,200 คน
เช่นเดียวกับธนาคารอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค FRB มีช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าของพันธบัตรและเงินกู้ยืมที่ FRB ได้ซื้อไปก่อนหน้านี้ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำ ขณะเดียวกัน ลูกค้าก็แห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าต้องการได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าจากที่อื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคาร
ผลก็คือ FRB ประสบปัญหาใหญ่เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ความกังวลเริ่มก่อตัวมากขึ้นในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเมื่อ FRB รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกและมีข่าวว่ากำลังพยายามขายสินทรัพย์บางส่วน ตลอดจนประกาศแผนการลดพนักงานมากถึง 25% ลดสินเชื่อคงค้าง และตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออก
ธนาคาร 11 แห่งในสหรัฐพยายามช่วย FRB โดยอัดฉีดเงินฝากใหม่จำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันที่ 16 มี.ค. โดยเจพีมอร์แกน, แบงก์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ต่างก็ทุ่มเงินรายละ 5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารอื่น ๆ เช่น โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ให้เงินจำนวนน้อยกว่า โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จัดทำขึ้นร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น FRB ยังได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากคณะกรรมการธนาคารกลางสินเชื่อที่อยู่อาศัย (FHLB) และจากเฟดอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไม่เพียงพอจะช่วย FRB ได้ โดยราคาหุ้นของธนาคารซึ่งเคยสูงถึง 170 ดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ร่วงลงต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนเม.ย. การล่มสลายของ FRB จะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นสามัญเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหุ้นบุริมสิทธิมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ และตั๋วเงินที่ไม่มีหลักประกันอีก 800 ล้านดอลลาร์อีกด้วย
อนึ่ง FRB ได้มีการเปลี่ยนมือเจ้าของมาหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2550 เมอร์ริล ลินช์ จ่ายเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการ ต่อมากรรมสิทธิ์ตกเป็นของแบงก์ ออฟ อเมริกา ที่เข้าซื้อเมอร์ริล ลินช์ ในปี 2552 และเปลี่ยนมืออีกครั้งในช่วงกลางปี 2553 เมื่อบริษัทด้านการลงทุนหลักทรัพย์ เช่น เจเนอรัล แอตแลนติก และโคโลนี แคปิตอล เข้าซื้อ FRB ในราคา 1.86 พันล้านดอลลาร์แล้วเปลี่ยนให้เป็นบริษัทมหาชน