“สรรพากร” แจงปมเก็บ “ภาษีเดินทาง ตปท.” แค่รับฟังความเห็นตามกฎหมาย
“กรมสรรพากร” แจง ปมเก็บภาษีเดินทางออกนอกประเทศ เป็นเพียงสำรวจความคิดเห็นตามกฎหมาย เผยมีการยกเว้นตั้งแต่ปี 34
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าว กรณีกรมสรรพากรเตรียมจะเก็บภาษีเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยเก็บครั้งละ 1,000 บาทต่อคน สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารไปต่างประเทศ และคนละ 500 บาท เมื่อเดินทางด้วยรถยนต์หรือเรือ อันเนื่องมาจากการที่กรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ระหว่างวันที่ 3-17 พ.ค.66 นั้น
ด้านนายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวในด้านต่างๆ เท่านั้น
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ได้รับทราบและเห็นชอบ การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ไม่ได้เป็นการเตรียมการที่จะจัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด
“ถึงแม้กฎหมายดังกล่าว จะไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2534 (อ้างอิง กฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร) พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 กำหนดให้กรมสรรพากรยังคงมีหน้าที่ ที่ต้องดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายโดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในระบบกลางตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว” นายวินิจ กล่าว
โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า “ภายในปีพ.ศ.2567 กรมสรรพากรต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอีก 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก”