SCB CIO มอง “เฟด” คงดอกเบี้ยปีนี้ 5-5.25% แนะลงทุน “พันธบัตรรัฐบาล-หุ้นกู้”

SCB CIO คาดเฟดไม่ปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ และคงไว้ที่ระดับ 5-5.25% เนื่องจากป้องกันเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น หลังคุมเข้มปล่อยสินเชื่อ แนะนักลงทุนเพิ่มสัดส่วนลงทุนพันธบัตรรัฐบาล-หุ้นกู้ Investment grade


ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) เปิดเผยว่า จากถ้อยแถลงของ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเน้นเรื่องของเสถียรภาพและสุขภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ ฯ ว่ายังแข็งแกร่งและเริ่มดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนมีนาคม แต่การปล่อยสินเชื่อ (credit conditions) ที่เข้มงวดอยู่แล้วจะเข้มงวดขึ้นอีก หลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดธนาคารหลายแห่ง และจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจการจ้างงานรวมถึงเงินเฟ้อ

โดยที่ประชุม FOMC เน้นย้ำ ว่า ยังยึดมั่นกับการนำเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า การชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ (disinflation process) ได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น (early stage) เท่านั้น การจะนำเงินเฟ้อ (Headline PCE) ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด กลับลงไปสู่ระดับ 2% ยังคงต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร และงานของเฟดในการจัดการเงินเฟ้อยังไม่เสร็จ อย่างไรก็ตาม ผลของดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นชัดในภาคการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ แต่ผลต่อเงินเฟ้อยังคงต้องติดตามกันส่วนความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่มาจากค่าจ้าง เริ่มเห็นสัญญาณอัตราการเติบโตของค่าจ้างที่ชะลอลงบ้างแล้ว

ทั้งนี้ การปรับนโยบายดอกเบี้ยหลังจากนี้จะพิจารณาจาก ผลสะสมของนโยบายการเงินที่ตึงตัวจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและระยะเวลา (lags) ที่ผลของนโยบายการเงินจะมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงิน  โดยเน้นว่าการตัดสินใจปรับนโยบายการเงินในแต่ละการประชุมจะเน้นรูปแบบ Data dependent พร้อมปรับเปลี่ยนเมื่อความเสี่ยงเข้ามาในระบบ โดยจะพิจารณาถึง ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันและการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการเปลี่ยนแปลง ตลาดการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ

ในมุมมองของประธานเฟด ประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะมีลักษณะ soft landing คือมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวและโตต่ำกว่าแนมโน้มปกติ (below trend growth) แต่ยังโตเป็นบวก โดยประธานเฟด เน้นว่ามุมมอง soft landing เป็นมุมมองส่วนตัวไม่ใช่ของทั้งคณะกรรมการ FOMC โดย SCB  CIO ประเมินเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตลอดทั้งปี 2566 ยังคงมุมมอง Positive ต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และ slightly positive ต่อหุ้นกู้ Investment grade

ดร. กำพล กล่าวต่อไปว่า สัญญาณเฟด ชัดเจนมากขึ้น เมื่อความตึงเครียดในภาคการเงิน (Financial sector stress) จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จากความเข้มงวดขึ้นของการปล่อยสินเชื่อ ในการแถลงข่าว ประธาน เฟดระบุว่า มีการเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นและจะมีการเข้ามาจัดการแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดย SCB CIO ประเมินว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบที่ใช้กับภาคธนาคารโดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและเล็กจะมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า

ตลาดยังคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี 2566 แต่ SCB CIO ยังคงมุมมองว่าการลดดอกเบี้ยมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากในปีนี้  เนื่องจากเฟด ยังให้น้ำหนักด้านเงินเฟ้อค่อนข้างมาก โดยในการแถลงข่าวประธานเฟด ระบุว่าการชะลอตัวของเงินเฟ้อเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่เร็วพอ (steadily but not quickly) ที่จะทำให้สามารถลดดอกเบี้ยได้โดยเงื่อนไขของการหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะมีการเปิดเผยในรายละเอียดการประชุม (minutes of meeting) ในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นตัวชี้ชัดว่า การหยุดขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และ Dot plot ที่จะเป็นตัวส่งสัญญาณชัดว่าเฟด จะมีการลดดอกเบี้ยหรือไม่อย่างไร จะมีการเปิดเผยในการประชุมครั้งถัดไป ในช่วงระหว่างวันที่13-14 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น เราแนะนำให้นักลงทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Positive) ในพอร์ต โดยจากการวิเคราะของ SCB CIO พบว่า ช่วงที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงถดถอยสูง (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI <50 ลดลงต่อเนื่อง ) และเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง พบว่า สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่อความผันผวน (Risk-adjusted return) พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ดีที่สุด ตามมาด้วยหุ้นกู้คุณภาพสูง (Slightly Positive) แต่ยังคงมุมมองหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield)  เป็น Slightly Negative เนื่องจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากหุ้นกู้ High Yield เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล ราคา หุ้นกู้ High Yield ลดลง หลังการปล่อยสินเชื่อมีความเข้มงวดสูงขึ้น

Back to top button