“สื่อนอก” มองเลือกตั้งไทย “ก้าวไกลแลนด์สไลด์” สะท้อนคนเบื่อการเมืองเก่า
สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจรายงานข่าวปรากฎการณ์ผลการเลือกตั้งหลัง “ก้าวไกลแลนด์สไลด์” สะท้อนประชาชนเบื่อการเมืองเดิมๆ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตั้งรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อต่างประเทศได้ให้ความสนใจปรากฎการณ์การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น หลังพรรคก้าวไกล กลายเป็นพรรคที่ได้รับเสียงโหวตจากประชาชนอย่างถล่มทลาย โดยสำนักข่าว BBC ของประเทศอังกฤษ ระบุว่า สองพรรคการเมืองฝ่ายค้านคือ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย มีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งเห็นที่ 2 พรรคการเมืองมีคะแนนนำเหนือพรรคของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าประชาชนที่ออกมาลงคะแนนไม่ยอมรับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบราชการ เศรษฐกิจ บทบาทของกองทัพ ซึ่งได้รับที่นั่งและคะแนนเสียงมากกว่าพรรคคู่แข่ง
สำนักข่าว BBC ยังมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประเด็นข้างต้นจะเป็นประเด็นเดียวกันกับที่กระตุ้นให้เกิดการประท้วงที่นำโดยนักศึกษาในปี 2563 โดยผู้สมัครของพรรคก้าวไกลบางคนเคยเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว และผู้ลงคะแนนเสียงที่อายุน้อย ซึ่งหลายคนเป็นสาวกของพรรคก้าวไกล มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อผลการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามแม้ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จะประสบความสำเร็จ แต่อาจต้องเผชิญกับศึกแย่งชิงอำนาจ เมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร 250 คน ร่วมกันลงคะแนนเลือก
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีแนวโน้มจะเอาชนะพรรคการเมืองที่กองทัพหนุนหลังได้อย่างขาดลอย แต่ยังคงไม่ชัดเจนว่าฝ่ายใดจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และยังต้องมีการเจรจากับพรรคการเมืองอื่นๆ รวมทั้งผ่านการลงมติของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว
นายเจย์ แฮร์ริแมน ผู้อำนวยการอาวุโสของ BowerGroupAsia ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง เห็นว่า ผลลัพธ์การเลือกตั้งที่ได้คือ การปฏิเสธอย่างชัดเจนของประชาชนต่อการเมืองแบบเก่าของไทย แต่แผนการปฏิรูปเชิงสถาบันของพรรคก้าวไกล อาจทำให้แผนดังกล่าวขัดแย้งกับฝ่ายกองทัพ
นาย เจย์ แฮร์ริแมน ยังเห็นว่า ความตึงเครียดอาจเพิ่มสูงขึ้นหากรัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการอย่างจริงจังตามคำมั่นสัญญาในการหาเสียง แต่ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังคงมีคะแนนเสียงไม่ถึง 376 ที่นั่ง ที่จำเป็นในการจัดตั้งรัฐบาล นั้นเท่ากับว่ายังต้องหาเสียงสนับสนุน โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ได้ลำดับที่ 3 อย่างพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า จำนวน ส.ส.ที่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยได้ ยังไม่อาจฟันธงลงไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่หวนกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภายังคงสามารถเล่นเกมการเมืองแบบเดิม ตามที่เคยโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีพรรคพันธมิตรรวม 19 พรรคได้สำเร็จ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แม้พรรคร่วมไทยสร้างชาติจะไม่ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ตาม
ด้านสำนักข่าวเอพีมองว่า มีความเป็นไปได้ที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะตกเป็นเป้าหมายในสิ่งที่ฝ่ายค้านเคยประสบมาแล้ว จากการยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. โดยกล่าวหานายพิธาว่า ไม่นำรายละเอียดในการถือหุ้นสื่อสำแดงไว้ในรายการทรัพย์สินตามกฎหมาย ซึ่งเคยทำให้หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่สูญเสียที่นั่งในสภาด้วยเหตุผลทางเทคนิคที่คล้ายคลึงกัน และจบลงด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกมองว่าท้าทายอย่างรุนแรงต่อสถาบัน และกลุ่มอนุรักษนิยมมาแล้ว.
ส่วนหนังสือพิมพ์ เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานว่า ประชาชนยังมีความหวาดกลัวว่าเผด็จการทหารจะใช้เล่ห์กลแบบเดิม เพื่อยับยั้งผลการเลือกตั้ง เช่น การใช้เสียงของวุฒิสมาชิกที่กองทัพแต่งตั้ง 250 คน มาเลือกตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมทั้งอาจมีการใช้คำสั่งศาลเพื่อยุบพรรค หรือตัดสิทธิทางการเมืองของผู้นำพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งอาจลงมือทำรัฐประหาร เพื่อพยายามยึดกุมอำนาจเอาไว้ต่อไป ทำให้ประเทศไทยยังคงมีเค้าลางของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอยู่ในช่วงต่อจากนี้