“สภาพัฒน์” แนะรัฐบาลใหม่ รักษาวินัยการคลัง-แก้ปากท้องประชาชน

สภาพัฒน์ฯ แนะรัฐบาลใหม่เร่งทำส่งเสริมการส่งออก-แก้ปัญหาปากท้องประชาชน พร้อมรักษาวินัยการคลัง-สร้างความเชื่อมั่นการลงทุนดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ เตือนนโยบายสร้างต้นทุนภาคธุรกิจกระเทือนการจ้างงาน-การบริโภค-สร้างภาระคลังระยะยาว


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวในวันนี้ (15 พ.ค. 66) แนะนำถึงการทำนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาว่า ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจจากผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีการใช้มาตรการทั้งด้านการเงินและมาตรการด้านการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าว และพยุงเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้

โดยฝากรัฐบาลใหม่ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากเกรงว่าหากบริหารจัดการได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าต่าง ๆ จนนำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อของประเทศในที่สุด นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติอีกด้วย

“ดังนั้นการทำนโยบายใดๆ ที่จะไปเพิ่มต้นทุนของภาคธุรกิจ รัฐบาลจะต้องพิจารณาผลดี และผลเสียว่าเป็นอย่างไร เพราะอาจทำให้ FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) กลับทิศได้ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ การที่ต้นทุนเพิ่ม ก็จะส่งผ่านไปถึงผู้บริโภค และไปถึงเงินเฟ้อในที่สุด เพราะฉะนั้น การทำนโยบายจะต้องรอบคอบและคิดให้รอบด้าน เพราะมันไม่ใช่กระทบแค่ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจด้วย” เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ไขหรือดำเนินการเป็นลำดับแรก ๆ เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ คือ อันดับแรก รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันสินค้าส่งออกของไทยไปยังตลาดโลก ทั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม รองลงมา คือ การดูแลปากท้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาราคาพลังงานสูง ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวไป จะต้องดูว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศนั้นสามารถแก้ไขหรือดำเนินการตามนโยบายที่แจ้งไว้ในช่วงหาเสียงได้หรือไม่

เลขาธิการสภาพัมน์ คาดว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในกรณีที่ล่าช้าที่สุดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2567 ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องเร่งหางบประมาณมาอัดฉีด โดยเฉพาะการลงทุน เช่น งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ จะต้องมีการเร่งในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2566 นี้ ให้สามารถใช้ได้ทันในช่วงปลายปีประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีปฏิทิน ก็คาดว่าจะมีงบลงทุนอีก 2 แสนล้านบาท ที่จะใช้ได้ในช่วงไตรมาส 1/2567

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มีการจัดทำไว้หมดแล้ว ถ้ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการ สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ 1. การปรับเล็ก คือ ปรับรายละเอียดไส้ในของงบประมาณ และ 2.ทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องมาดูประมาณการรายได้ การขยายตัวเศรษฐกิจ ประมาณการรายจ่าย แต่ก็คาดว่าจะไม่แตกต่างจากที่เคยทำไว้เดิม

“การทำงบประมาณ มีข้อจำกัดหลายเรื่อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่าจะเลือกทางไหน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับนโยบายที่ได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาวินัยการเงินการคลังของประเทศควบคู่ไปด้วย” นายดนุชา กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button