THAI เตรียมควบรวม “ไทยสมายล์” คาดเสร็จปีนี้
THAI แจ้งปรับโครงสร้างธุรกิจการบินใหม่ ดึง “ไทยสมายล์” เข้ามาควบรวม คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 66
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการเจ้าหนี้ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ THAI ดำเนินการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของบริษัทฯ (การปรับโครงสร้าง) ตามแนวทางที่คณะผู้บริหารแผนและฝ่ายบริหารนำเสนอ กล่าวคือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมด โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าว จะส่งผลให้เครื่องบินที่ปัจจุบันบริหารจัดการภายใต้ไทยสมายล์ย้ายมาบริหารจัดการภายใต้บริษัทฯ
สำหรับการปรับโครงสร้างดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ตามข้อ 5.7.2 ของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ แล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 และต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัทฯคาดว่าการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2566
โดยปัจจุบันไทยสมายล์ให้บริการภายใต้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate (AOC) ที่แยกกันกับบริษัทฯ ส่งผลให้ไทยสมายล์เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการการดำเนินงานการวางแผนฝูงบิน การบริหารตารางเวลาการบิน และการวางแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการแยกจากบริษัทฯอย่างชัดเจนจึงทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการฝูงบินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การแข่งขันในตลาด อีกทั้งการแข่งข้นด้านราคาที่เพิ่มมากขึ้นในเส้นทางบินระยะสั้น (Short Haul) จากผู้ให้บริการที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carrier) ซึ่งให้บริการในราคาที่ต่ำกว่ายังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยสมายล์อีกด้วย
ทั้งนี้ภายหลังการปรับโครงสร้าง บริษัทฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการการดำเนินงาน การวางแผนฝูงบินการบริหารตารางเวลาการบิน และวางแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการของฝูงบินทั้งของบริษัทฯ และของไทยสมายล์ ภายใต้ AOC ของบริษัทฯ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจการบินของบริษัทฯ ในหลายด้าน ดังต่อไปนี้
1.การให้บริการภายใต้ AOC เดียวจะเพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดเครือข่ายเส้นทางบินตอบสนองความต้องการและความสะดวกของลูกค้าในการเชื่อมต่อ (Hub & Spoke) ได้มากขึ้น เนื่องจากบริษัทฯมีเส้นทางบินที่สามารถให้บริการได้มากกว่า และการสับเปลี่ยนอากาศยานให้สอดคล้องกับระยะทางบินและความต้องการของตลาดผ่านการบริหารจัดการอากาศยานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างอากาศยานลำตัวแคบ (Narrow-Body Aircraft) ซึ่งเดิมให้บริการโดยไทยสมายล์ และอากาศยานลำตัวกว้าง (Wide-Body Aircraft) ซึ่งให้บริการโดยบริษัท ฯ จะเป็นผลให้บริษัทฯ มีอัตราการใช้ประโยชน์อากาศยานสูงขึ้นและมีต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)
2.สร้างความเป็นเอกภาพในตราสินค้าของบริษัทฯ และไทยสมายล์ และขจัดความไม่ชัดเจนของตำแหน่งการตลาดระหว่างกลุ่มธุรกิจการบินโดยการให้บริการและการบริหารการดำเนินงานที่เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้บริษัทฯ อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสื่อสารด้านการตลาด ส่งผลให้บริษัทฯสามารถลดต้นทุนการขายในด้านค่าสื่อสารการตลาด มีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน
3.ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านการปฏิบัติการบินในส่วนของนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบสนับสนุนการปฏิบัติการบินและทรัพยากรด้านต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัท ฯ มีความสามารถในการบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้การปรับโครงสร้างจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการให้บริการต่อผู้โดยสารของสายการบินไทยสมายล์แต่อย่างใด เนื่องจากบุคลากรของไทยสมายล์ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร พนักงาน นักบิน และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมทั้งการให้บริการผู้โดยสารจะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทฯ อีกทั้งบริษัทฯ ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลและผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงด้านการเงิน ด้านความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และด้านกฎหมายแล้ว ได้ข้อสรุปว่าการปรับโครงสร้างจะทำให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถบรรลุผลตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนการปฏิรูปธุรกิจได้