สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 พ.ค. 2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 พ.ค. 2566
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (23 พ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลว่าสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,055.51 จุด ลดลง 231.07 จุด หรือ -0.69%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,145.58 จุด ลดลง 47.05 จุด หรือ -1.12% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,560.25 จุด ลดลง 160.53 จุด หรือ -1.26%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันอังคาร (23 พ.ค.) โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มสินค้าหรูหราและการเปิดเผยรายงานรายได้ที่น่าผิดหวังจากจูเลียส แบร์ ซึ่งเป็นบริษัทจัดการความมั่งคั่งของสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซน และปัญหาเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐ
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 466.10 จุด ลดลง 2.81 จุด หรือ -0.60%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,378.71 จุด ลดลง 99.45 จุด หรือ -1.33%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,152.86 จุด ลดลง 71.13 จุด หรือ -0.44% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,762.95 จุด ลดลง 8.04 จุด หรือ -0.10%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันอังคาร (23 พ.ค.) เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการทำข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้สหรัฐส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาด ขณะที่หุ้นเบอเบอร์รี่ร่วงลงตามหุ้นกลุ่มสินค้าหรูหราของยุโรป
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,762.95 จุด ลดลง 8.04 จุด หรือ -0.10%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (23 พ.ค.) ขานรับความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบียออกมาเตือนนักเก็งกำไรที่ขายชอร์ตในตลาด
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1.19% ปิดที่ 72.91 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 85 เซนต์ หรือ 1.12% ปิดที่ 76.84 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันอังคาร (23 พ.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยฉุดตลาด
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 2.70 ดอลลาร์ หรือ 0.14% ปิดที่ 1,974.50 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 23.70 เซนต์ หรือ 0.99% ปิดที่ 23.624 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 19.70 ดอลลาร์ หรือ 1.83% ปิดที่ 1,057.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 45.50 ดอลลาร์ หรือ 3.1% ปิดที่ 1,446.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (23 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย หลังจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสยังไม่คืบหน้า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.28% แตะที่ระดับ 103.4864
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9013 ฟรังก์ จากระดับ 0.8970 ฟรังก์ในวันจันทร์ (22 พ.ค.) และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.6239 โครนา จากระดับ 10.5523 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 138.5240 เยน จากระดับ 138.5500 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3505 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3507 ดอลลาร์แคนาดา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0775 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0819 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2417 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2442 ดอลลาร์